สุรินทร์- ก.ต่างประเทศ เปิดให้ข้อมูลและรับความเห็น “ข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา และการเจรจาสำรวจจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา” ที่ จ.สุรินทร์ เผยชาวเมืองช้างสนใจ และแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องประสาทพระวิหาร เป็นจำนวนมาก พร้อมถามแทงใจดำ ทำไมไม่ทวงคืนปราสาทพระวิหารกลับมาเป็นของไทย
วันนี้ (9 มิ.ย.) ที่ห้องศรีพิมาน โรงแรมสุรินทร์มาเจสติก อ.เมือง จ.สุรินทร์ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดการประชุมให้ข้อมูลและรับฟังความเห็นของประชาชน เกี่ยวกับ “การเจรจาข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพพูชา และการเจรจาด้านการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา” โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมรับฟังข้อมูลและเสนอความคิดเห็นในครั้งนี้ กว่า 150 คน
นายภาสกร ศิริยะพันธ์ หัวหน้าศูนย์สถานการณ์พื้นที่เขาพระวิหารและชายแดนไทย-กัมพูชา กระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา และการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา พร้อมทั้งนำข้อตกลงของคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชา ประชุมกันเมื่อวันที่ 28-29 เม.ย.2552 ที่จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา มารายงานให้ประชาชนทราบ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าของความร่วมมือระหว่างกองทัพไทยและกองทัพแห่งชาติกัมพูชา ที่ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความเห็นชอบร่วมกันในเรื่องต่างๆ 3 ด้าน รวมทั้งหมด 17 ประเด็น
ประกอบด้วย 1.ด้านเขตแดน ทั้งไทยและกัมพูชา มีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก,การทำความเข้าใจในการอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และ การผ่านแดน การสัญจรข้ามแดนของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ทั้งไทยและกัมพูชาจะให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเพื่อความมั่นคงของทั้ง 2 ประเทศ และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชา
2.ด้านความมั่นคง และการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชายแดน จะร่วมกันแก้ไขปัญหาแรงงาน ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย, การป้องกันปราบปรามยาเสพติดร่วมกันการป้องกัน ปราบปราม ปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ในพื้นที่ชายแดน ร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้าย ร่วมมือกันเก็บกู้วัตถุระเบิดตามแนวชายแดน ส่งเสริมความปลอดภัยทางทะเล ส่งเสริมหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยและทหารตำรวจของกัมพูชาในพื้นที่ชายแดน
3.ด้านความร่วมมือในอื่นๆ เช่น ส่งเสริมการค้าชายแดน ความร่วมมือด้านการเกษตร ด้านสาธารณสุข ด้านการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมความร่วมมือด้านการบรรเทาสาธารณภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การประชุมรับฟังข้อมูลและร่วมเสนอความคิดเห็นวันนี้ ประชาชนชาวสุรินทร์ ให้ความสนใจและแสดงความเห็นในเรื่องการแก้ไขปัญหาปราสาทพระวิหารกันมาก ซึ่งประชาชนชาวสุรินทร์ได้สะท้อนสภาพปัญหาตั้งแต่ช่วงเสียปราสาทพระวิหารจากการตัดสินของศาลโลกในปี 2505 และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ของไทยในสมัยนั้นได้รณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยทวงคืนปราสาทพระวิหารกลับคืนมาเป็นของไทย จึงถามกระทรวงต่างประเทศว่าแล้ววันนี้ทำไมเราไม่ทวงคืนประสาทพระวิหาร
ทางด้าน นายภาสกร กล่าวยอมรับว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเพราะเราแพ้คดี ในศาลโลก ซึ่งเรียกว่ากฎหมายปิดปาก เป็นธรรมนูญศาลโลกที่ระบุไว้ในข้อ 60 และข้อ 61 โดยข้อ 60 ระบุว่า คำพิพากษาถือเป็นที่สุดไม่สามารถอุทธรณ์ต่อไปได้ ในกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตคำพิพากษา ศาลจะเป็นผู้ตีความโดยคำร้องของคู่กรณี และ ข้อ 61 ระบุว่า คำขอของคู่กรณีให้ศาลทบทวนคำพิพากษาสามารถทำได้ เฉพาะเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการตัดสินคดี ซึ่งในขณะที่ตัดสินคดีไม่ปรากฏต่อศาล