เชียงราย – โควตาจำนำข้าวเต็มซ้ำ 10 โรงสี ในโครงการหยุดรับข้าวอีกครั้ง หลังเปิดจำนำโควตาใหม่ได้แค่วันเดียว แกนนำชาวนารับสงสัยถูกหลอกให้ยกพวกปิดถนนกดดันรัฐบาล ขณะที่นายทุนโรงสีดอดซื้อข้าวรอสวมสิทธิ์ไว้แล้ว
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (9 มิ.ย.) โรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวนาปรังกับรัฐบาลทั้ง 10 แห่งของ จ.เชียงราย ได้หยุดรับซื้อข้าวนาปรังจากเกษตรกรอีกครั้งโดยถือเป็นครั้งที่ 2 โดยระบุว่าหมดโควตาที่ได้รับจากรัฐบาลแล้ว
ทั้งนี้ โรงสีทั้งหมดได้รับซื้อข้าวนาปรังจากเกษตรกรตามราคารับประกันครั้งที่ 2 หลังจากชาวนาได้พากันไปปิดถนนหลายจุดใน จ.เชียงราย เช่น ถนนพหลโยธินสายแม่จัน-เชียงราย หน้าศาลเจ้ากิ่วทัพยั้ง ต.แม่จัน อ.แม่จัน ฯลฯ แต่หลังจากมีการเจรจาครั้งล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาและรัฐบาลรับปากจะขยายการรับจำนำออกไปรวมทั้งกำหนดโควตาเอาไว้กว่า 2 ล้านตันทำให้ชาวนายอมเปิดถนน แต่สุดท้ายโรงสีข้าวก็มายุติการรับจำนำอีกครั้งดังกล่าว
ดังนั้น ตลอดทั้งวันจึงมีกระแสว่ากลุ่มชาวนาจะพากันออกไปปิดถนนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น เพราะกลุ่มชาวนาส่วนใหญ่กำลังยุ่งอยู่กับการเกี่ยวข้าวนาปรัง เนื่องจากเป็นฤดูฝนและมีน้ำไหลเข้าสู่ท้องนาเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเกี่ยวข้าวเอาไว้ก่อนไม่เช่นนั้นข้าวจะเปียกทำให้ราคาตกต่ำหรือบางรายเมล็ดข้าวงอกไม่สามารถใช้จำหน่ายได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม บรรดาแกนนำชาวนาในพื้นที่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.พาน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหารือกันและมีมติว่าจะรอดูมติของรัฐบาลต่อไปอีก 1-2 วัน ก่อนกำหนดมาตรการกดดันให้เพิ่มโควตาการรับจำนำต่อไป
นายบุญเรียน โนพะเส้า แกนนำชาวนาที่ อ.เชียงแสน กล่าวกับ “ASTVผู้ตัดการ” ว่า หลังจากชาวบ้านเรียกร้องไปในครั้งก่อนก็ได้รับคำตอบจากคณะกรรมการข้าวว่าจะขยายโควตาให้กับชาวนาทั่วประเทศอีกประมาณ 2 ล้านตัน ไปจนถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้ แต่ปรากฏว่า เอาเข้าจริงก็ขยายโควตาให้ จ.เชียงราย เพียง 16,000 ตันเท่านั้น ทั้งๆ ที่เชียงรายมีปริมาณข้าวนาปรังกว่า 3 แสนตัน จึงส่งผลให้ชาวนาจำนวนมากประสบความเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากส่วนใหญ่ไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปรับโควตาตามราคารับจำนำตามโครงการรับจำนำในครั้งนี้ได้
นายบุญเรียน กล่าวอีกว่า จากการสอบถามข้อมูลไปยังหลายฝ่าย ก็ปรากฏว่า การจัดสรรโควตารับจำนำข้าวจำนวน 2 ล้านตัน ที่รัฐบาลรับปากเอาไว้ก่อนหน้านี้ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด จึงสงสัยในการบริหารจัดการและความโปร่งใส เพราะสังเกตเห็นว่าในช่วงที่พวกเราชุมนุมเรียกร้องและปิดถนนระหว่างวันที่ 4-5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ช่วงนั้นโรงสีข้าวต่างๆ พากันแห่รับซื้อข้าวนาปรังที่ไม่ใช่ของชาวนาที่ไปเรียกร้องเอาไว้ ต่อมาเมื่อไปรับปากกับชาวบ้านแล้วทำให้พวกเขาเปิดถนนและนำข้าวไปจำนำ ปรากฏว่า โควตาก็เต็มอย่างรวดเร็วจนต้องหยุดรับจำนำ
“พวกเราสงสัยว่ามีการลอบซื้อข้าวไปเก็บเอาไว้เพื่อช่วงชิงขายในราคาจำนำแทนชาวของชาวนาที่ไปเรียกร้องหรือไม่”
เขาบอกว่า ชาวนากำลังเดือดร้อนหนักเพราะหวังเอากับการรับจำนำครั้งใหม่นี้มาก แต่ก็เต็มโควตาอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเราไม่เกี่ยวข้าวก็เปียก เพราะฝนตกชุกถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้เมล็ดข้าวอาจจะงอกเสียหายหมด เมื่อเกี่ยวก็ต้องจ้างรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 500 บาท จ่ายค่าขนและได้ราคาข้าวเพียงตันละ 7,000-8,000 บาทเท่านั้น พวกเราจึงเหมือนถูกหลอกใช้ให้ไปประท้วงเรียกร้อง เมื่อมีการตั้งโควตารับจำนำปรากฏว่ามีคนชุบมือเปิปเอาโควตาไปเรียบร้อยแล้ว
นายบุญเรียน บอกว่า คงต้องรอดูสถานการณ์ว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไปอีก 1-2 วันจึงค่อยกำหนดมาตรการกันต่อไป และพวกเราหวังว่าเรื่องนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองว่ารัฐบาลชุดนี้มุ่งจะนำโควตาที่เหลือไปช่วยเหลือคนในภาคใต้ รวมทั้งไม่อยากสงสัยว่าเรื่องนี้เป็นเกมการเมืองระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคภูมิใจไทย เพราะเป็นเรื่องปากท้องของชาวบ้านที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญมากกว่าเกมการเมือง รวมทั้งพวกเราก็เบื่อกับการที่นักการเมืองผลักดันโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน มามากแล้วด้วย
ด้าน นายประพัฒน์ ถุงแก้ว รองประธานรับซื้อข้าวนาปรัง สหกรณ์การเกษตรเชียงแสน กล่าวว่า พวกเราไม่เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการและจัดสรรโควตาเพราะเมื่อกำหนดโควตาในปริมาณมากออกมาแล้ว ทำไมไม่สนใจดำเนินการให้เสร็จ หรือให้ข่าวสารที่ถูกต้องกับชาวนา และสงสัยว่า เหตุใดโรงสีจึงพากันซื้อข้าวจำนวนมากในขณะที่ชาวนากำลังชุมนุมประท้วงกันอยู่และเมื่อเริ่มรับจำนำรอบใหม่ก็เต็มอย่างรวดเร็ว