xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าท่าเรือเชียงแสน 2 มูลค่า 1.5 พันล้าน เสร็จปี 54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – เริ่มแล้วโปรเจกต์ท่าเรือเชียงแสน 2 กลุ่ม “พี.เอ.เอ็ม” คว้าสัญญาสร้างท่าเรือปากแม่น้ำกก บรรจบแม่น้ำโขง มูลค่า 1.5 พันล้าน ล่าสุด เริ่มปรับแต่งหน้าดิน กำหนดสร้างเสร็จปี 54 พร้อมวางแผนขุดลอกร่องน้ำโขงใหม่ เปิดทางเรือสินค้าใหญ่เข้าเทียบท่าได้ตลอด กรมการขนส่งทางน้ำฯเชื่อมั่น คุ้มทุนแน่นอน หลังท่าเรือเชียงแสน 1 มีปริมาณสินค้าเข้า-ออกเกินเป้าหมาย จนเริ่มแออัด ด้าน อปท.-พ่อค้าท้องถิ่น ยืนยันไม่มีใครขวาง แต่เตือนต้องหารือ ส.ป.ป.ลาว ก่อนขุดน้ำโขง พร้อมให้เปิดทางชุมชนเข้าใช้ประโยชน์ร่วม

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม ได้จัดการประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเชียงแสน แห่งที่ 2 จ.เชียงราย ที่ ห้องประชุมวัดพระธาตุผาเงา ต.เวียง อ.เชียงแสน เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม เป็นประธาน และ นายชลอ คชรัตน์ อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ก็นำคณะนักวิชาการไปประชาสัมพันธ์โครงการ มีผู้เข้าร่วมรับฟังเป็นข้าราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนเข้ารับฟังจำนวนหนึ่ง

นายเกื้อกูล กล่าวว่า แม้โครงการนี้จะผ่านการศึกษาด้านต่าง ๆ มาเป็นอย่างดี และเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นผลดีต่อการค้าชายแดนของเชียงราย รวมถึงพื้นที่เชียงแสนในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทุกโครงการย่อมมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบในอนาคต ซึ่งตนยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายระหว่างที่ก่อสร้าง โดยล่าสุดนายอิทธิเดช แก้วหลวง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงราย พรรคเพื่อไทย ก็โทรศัพท์แจ้งให้ช่วยดูโครงการให้ดีและอย่าให้มีผลกระทบ ซึ่งตนเองก็รับปากตามนั้น

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในการจัดประชาสัมพันธ์ครั้งนี้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้ให้ นายพงษ์วรรณ จารุเดชา ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมของกรมให้รายละเอียดทั้งหมดของโครงการว่า ท่าเรือเชียงแสน 2 จะตั้งตรงปากแม่น้ำกก ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่หมู่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน เนื้อที่ 402 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา โดยปัจจุบันได้ผ่านขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ประชาพิจารณ์หมดแล้ว และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ก่อสร้างด้วยวงเงิน 1,546,400,000 ล้านบาท

กรมการขนส่งทางน้ำฯ ได้ตกลงว่าจ้างบริษัท พอร์ท แอนด์ มารีน คอร์ปอเรชั่น (พี.เอ.เอ็ม) จำกัด ตามสัญญาเลขที่ 52/2552/พย.ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 ให้การทำก่อสร้างตามสัญญา 960 วัน ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2552-28 ธันวาคม 2554

นายพงษ์วรรณ กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดโครงการจะมีการสร้างท่าเทียบเรือ 5 จุด คือ ท่าเรือแบบทางลาด 2 ระดับ ด้านทิศเหนือยาว 300 เมตร และทิศใต้ยาว 300 เมตร ท่าเรือแนวดิ่งภายในแอ่งจอดเรือยาว 629 เมตร บริเวณต่อกับแอ่งจอดเรือด้านทิศเหนือยาว 554 เมตร บริเวณต่อกับแอ่งจอดเรือด้านทิศใต้ยาว 300 เมตร และท่าเรือสำหรับเรือตรวจการณ์ยาว 226 เมตร โครงการป้องกันตลิ่งเป็นเขื่อนกันตลิ่งยาวรวม 3,447 เมตร โดยแยกเป็นเขื่อนป้องกันตลิ่งในแม่น้ำโขงยาว 500 เมตร เขื่อนป้องกันตลิ่งเกาะช้างตายซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำโขงยาว 765 เมตร เขื่อนป้องกันตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำกกด้านละ 660 เมตรและ 1,525 เมตรตามลำดับ

นอกจากนี้ จะมีการขุดลอกร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำโขงกว้าง 40 เมตร ยาว 1.4 กิโลเมตร ลึก 1.5 เมตร จากระดับน้ำต่ำสุด และขุดลอกส่วนที่เป็นแอ่งจอดเรือ ซึ่งจะทำให้ต้องขุดลอกดินขึ้นมาทั้งสิ้น 1,050,000 ลูกบาศก์เมตร และจะมีการขุดลอกบำรุงรักษาประจำปีประมาณ 181,700 ลูกบาศก์เมตร

ส่วนงานด้านอาคารมีทั้งอาคารสำนักงานท่าเรือและอาคารเอนกประสงค์ โรงพักสินค้า สำนักงานโรงพักสินค้าประตูทางเข้า ฯลฯ ลานจอดรถพักรอพื้นที่รวม 26,600 ตารางเมตร งานก่อสร้างถนนยาวรวม 4,036 เมตร นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ เพื่อสำรองเอาไว้และเก็บกองดินทรายที่ขุดลอกขึ้นมาใหม่โดยคำนวณปริมาณดินตะกอนที่สามารถรองรับได้ 605,146.54 ลูกบาศก์เมตร

ด้านนายสมควร สุตะวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านแซว กล่าวว่า จากการทำประชาพิจารณ์ 2-3 ครั้งที่ผ่านมาจะเห็นว่าชาวบ้านไม่มีใครต่อต้านเพราะเห็นว่าจะเกิดผลดี แต่ก็ยังกังวลว่าอาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอยากให้จัดสรรพื้นที่จำหน่ายสินค้าเพื่อชุมชนภายในท่าเรือ จึงขอให้ท่าเรือมีหนังสือไปยัง อบต.บ้านแซว เพื่อยืนยันเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการด้วย

ด้านนายอรรภัณฑ์ รังษี ประธานชมรมพ่อค้าชายแดน อ.เชียงแสน กล่าวว่า บรรดานักธุรกิจชายแดนไม่มีการต่อต้านโครงการ เพราะเห็นถึงความจำเป็น แต่มีความกังวลและหากทางภาครัฐยังไม่ดำเนินการก็ขอให้เร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้มีผลกระทบภายหลัง คือ กรณีการขุดร่องแม่น้ำโขงนั้นขอให้หารือกับ สปป.ลาว ให้ดีเพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบได้

นอกจากนี้ อยากให้มีการประเมินราคาค่าใช้บริการจากเรือและรถบรรทุกให้ต่ำลงเพื่อดึงดูดใจ เพราะท่าเรือแห่งที่ 1 ปัจจุบันคิดราคาเรือเทียบท่า 300 บาท และรถบรรทุก 300 บาท แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 600 บาท จนทำให้มีผู้ไปใช้บริการน้อยและหันไปใช้ท่าเรือเอกชนแทน

ขณะเดียวกัน ก็กังวลเรื่องระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่จะลดระดับลงตั้งแต่เดือนธันวาคม-เมษายน ของทุกปี จึงเกรงว่าเรือสินค้าที่ตั้งเป้าให้รับได้กว่า 300 ตัน จะเข้าไปปากแม่น้ำกก ที่ห่างจากท่าเรือแห่งเดิมประมาณ 10 กิโลเมตรไม่ได้ ก็จะทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ท่าเรือได้เต็มที่ตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม นายชลอ คชรัตน์ อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องสร้างท่าเรือใหม่ เพราะแห่งที่ 1 มีเนื้อที่แค่ 9 ไร่ ใช้งานแค่ 4 ไร่ที่เหลือใช้จอดรถ และขยายตัวสร้างคลังสินค้าก็ไม่ได้ทั้งยังอยู่กลางเมืองเชียงแสนและโบราณสถานเชียงแสน

นอกจากนี้ กำหนดให้ได้ใช้งานนาน 15 ปี รองรับปริมาณสินค้าได้ปีละ 300,000 ตัน แต่ปรากฏว่าปัจจุบันปริมาณสินค้าทะลุกว่า 100,000 ตันแล้ว สำหรับเรื่องความคุ้มทุนนั้นตนเห็นว่าไม่น่าห่วงเพราะ 7 เดือนที่ผ่านมาท่าเรือแห่งที่ 1 ทำกำไรได้ประมาณ 3 ล้านบาท คาดว่าตลอดทั้งปีอาจจะถึง 5-10 ล้านบาท ดังนั้นหากท่าเรือแห่งที่ 2 แล้วเสร็จและใช้ได้อย่างเต็มที่อาจจะมีรายได้ทะลุ 10-20 ล้านบาท ด้านความกังวลเรื่องผลกระทบ กรมฯได้กำหนดเอาไว้ในสัญญาทุกระดับเอาไว้กว่า 10 แผนเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ ระหว่างที่มีการประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวต่อภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนี้ บริเวณไซต์งานก่อสร้าง ก็เริ่มนำเครื่องจักรเข้าไปปรับหน้าดิน ซึ่งเป็นป่าแขม ติดกับแม่น้ำกก-แม่น้ำโขงแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น