xs
xsm
sm
md
lg

ขน.เปิดศาลาการเปรียญวัดพระธาตุผาเงาพรุ่งนี้ถกอนาคตท่าเรือเชียงแสน 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – กรมขนส่งทางน้ำฯ เตรียมตั้งโต๊ะกลางศาลาการเปรียญวัดพระธาตุผาเงา พรุ่งนี้ (4 มิ.ย.) เสวนา “ท่าเรือเชียงแสน 2” ที่กำลังอยู่ระหว่างถมหน้าดินแล้ว

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า พรุ่งนี้ (4 มิ.ย.) กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (ขน.) กระทรวงคมนาคม ได้กำหนดให้จัดประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ที่ปากแม่น้ำกก ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่หมู่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยการจัดการสัมมนาจะเริ่มตั้งแต่เวลา 13.30-16.30 น.ณ ศาลาการเปรียญวัดพระธาตุผาเงา ต.เวียง อ.เชียงแสน โดยในครั้งนี้ นายชะลอ คชรัตน์ อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีจะเดินทางไปชี้แจงโครงการด้วยตัวเอง

ส่วนพื้นที่ก่อสร้าง เนื้อที่ 402.3 ไร่ ล่าสุด กำลังอยู่ในช่วงปรับถมที่ดินเพื่อเตรียมการก่อสร้างโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี แจ้งว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ เป็นการประชาสัมพันธ์ภารกิจของกรมในการเสริมสร้างระบบการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศไทยกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน และจีนตอนใต้ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงการขนส่งมายังภาคกลางที่ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือ จ.ระนอง เพื่อส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน

โดยท่าเรือในแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub region :GMS)ตามแผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) และรองรับข้อตกลงการเดินพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติ (ไทย พม่า สปป.ลาว และจีน) ซึ่งมีมูลค่าการค้าทางเรือในแม่น้ำโขงเพิ่มมากขึ้นทุกปี รวมทั้งลดปัญหาความแออัดของท่าเรือแห่งที่ 1 ที่อยู่กลางตัวเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน จึงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าการให้รถบรรทุกสินค้าแล่นผ่านไปมาจะกระทบกับโบราณสถานต่างๆ รวมทั้งไม่สามารถขยายตัวหรือสร้างโกดังได้ด้วย

การออกแบบท่าเรือแห่งใหม่แล้วเสร็จเมื่อปี 2548 โดยออกแบบให้ก่อสร้างบริเวณปากแม่น้ำกกก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบกับแม่น้ำโขงและเขตแดนไทย-สปป.ลาว เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในการก่อสร้างท่าเรือแห่งแรก จนต้องทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นต้องเดินทางไปเจรจากับ สปป.ลาว เพื่อปรับแบบแปลนด้วยตัวเองมาแล้ว

สำหรับศักยภาพของท่าเรือใหม่ที่ทางกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เคยประชาสัมพันธ์ในเวทีจัดสัมมนาต่างๆ ก่อนหน้านี้ คือ เป็นท่าเรือที่ออกแบบให้สามารถรองรับเรือรุ่นใหม่ที่มีความยาว 40 เมตร ได้พร้อมกัน 11 ลำ (ท่าเรือเชียงแสน 1 รับเรือที่ยาว 40 เมตรพร้อมกันได้เพียง 5 ลำเท่านั้น) มีลานจอดรถขนาด 93,830 ตารางเมตร หน้าท่าเป็นทางลาดกว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร ระดับ 2 ชั้น สามารถใช้ได้ทั้งระดับน้ำขึ้นและลง มีท่าเรือที่ขนถ่ายด้วยเครน 4 ท่า รองรับรถยก 30 ตัน และมีท่าสำหรับขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ มีสะพานขนาด 10 คูณ 50 เมตร ยื่นไปกลางแม่น้ำสำหรับเรือบรรทุกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม นอกจากนี้ในระยะที่ 2 กำหนดให้เพิ่มระบบเครนและสายพาน 1 ท่า ระบบตู้คอนเทนเนอร์อีก 8 ท่า เป็นที่ตั้งของ 8 หน่วยงาน เช่น ศุลกากร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ด่านตรวจพืช-สัตว์ องค์การอาหารและยา (อย.) ฯลฯ

ท่าเรือแห่งใหม่นี้ เกิดขึ้นตามที่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้คาดการณ์เอาไว้ว่าในปี 2552 จะมีสินค้าที่ท่าเรือเชียงแสนกว่า 524,462 ตัน ขณะที่ท่าเรือปัจจุบันไม่สามารถรองรับได้ จนต้องสร้างท่าเรือใหม่ดังกล่าวขึ้น ด้วยงบประมาณผูกพันระยะแรก 1,560.580 ล้านบาท ระยะที่ 2 จำนวน 452.350 ล้านบาท

นอกจากนี้ พบว่า ทางกรมทางหลวงชนบทได้มีการออกแบบก่อสร้างถนนจาก อ.เมือง เชื่อมตรงไปยังท่าเรือแห่งใหม่ดังกล่าวด้วย เพื่อเลี่ยงไม่ให้มีการใช้เส้นทางเดิมซึ่งต้องอ้อมไกลออกไปอีกด้วย โดยปัจจุบันได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนไปแล้วหลายรอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น