ASTVผู้จัดการออนไลน์ – เครือข่ายสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลหนุนสมทบกองทุนสวัสดิการตำบลวันละบาทให้สมาชิกกองทุนหวังสร้างความเข้มแข็งระดับรากฐาน พร้อมดึงงบสวัสดิการที่กระจัดกระจายในหน่วยงานรัฐให้กองทุนสวัสดิการชุมชนดำเนินการแทนโดยออกกฎหมายขึ้นมารองรับ
เมื่อวันที่ 3-4 มิ.ย. ที่ผ่านมา เครือข่ายสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ภาครัฐ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมเปิดสัมมนาเตรียมความพร้อม “ผนึกกำลังสร้างพลัง สวัสดิการชุมชนท้องถิ่น” ขึ้น ณ โรงแรมราชศุภมิตร อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้กว่า 250 คน
นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ประธานเปิดงาน
กล่าวว่า สวัสดิการชุมชนที่ภาคประชาชนจัดขึ้นทั่วประเทศ เป็นการรวมตัวกันที่สำคัญยิ่งที่จะดูแลกัน เป็นฐานการพัฒนาที่เกิดจากการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผลประโยชน์ กองทุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นจะเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่จะทำให้คนที่ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการได้รับสวัสดิการ เป็นการสร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคงของคนในชุมชน ซึ่งหมายรวมถึงทุกอย่างที่จะทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในรูปแบบของสิ่งของ เงินทุน น้ำใจ การช่วยเหลือกเกื้อกูล เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย
แม้ประเทศจะเกิดวิกฤตหนักหลายครั้ง แต่ภาคชนบทยังมีความเข้มแข็ง จนสามารถผ่านพ้นวิกฤตอยู่รอดได้อย่างมีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ เหมือนกองทุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นที่เอาความเข้มแข็งของชุมชนเป็นที่ตั้ง ใส่ใจกันและกัน เคารพการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ อย่างเห็นคุณค่าอยู่บนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น
สวัสดิการชุมชนท้องถิ่นจะเน้นเรื่องของการสร้างคุณภาพชีวิต นำเงินมาออมร่วมกันเพื่อจะเป็นบำนาญให้กับสมาชิก เกิดการเรียนรู้การจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทั้งระดับตำบล ระดับจังหวัด ระดับชาติ เพื่อนำไปสู่ความสันติสุขร่วมกัน ผู้ให้กับผู้รับต้องมีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน สวัสดิการชุมชนท้องถิ่นจึงจะก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน
นายชบ ยอดแก้ว อนุกรรมการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า ปัญหาในสังคมมันเกิดจากคน จึงต้องแก้ปัญหาที่คน ชุมชนจึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาคน แล้วมองดูต้นทุนในชุมชนที่มีอยู่ ซึ่งหากมองดูแล้วในชุมชนเรามีทุน 7 ทุน คือ ทุนคน ทุนภูมิปัญญา ทุนทรัพยากร ทุนวัฒนธรรม ทุนแรงงาน ทุนเวลา และทุนเงินตรา
ดังนั้น การจัดสวัสดิการชุมชนเป็นการฟื้นทุนทางสังคมที่มีอยู่เดิม การช่วยเหลือเกื้อกูลกันบนพื้นฐานปัจจัยสี่ โดยมีบ้าน วัด โรงเรียน เป็นศูนย์รวมจิตใจ โดยใยวิถีชีวิตผู้คนในชุมชน จากการช่วยเหลือดูแลกันนี้เองได้นำไปสู่การจัดสวัสดิการผ่านฐานกิจกรรมต่างๆ ทั้งกลุ่มออมทรัพย์ องค์กรการเงิน ทรัพยากร วิสาหกิจชุมชน ใช้ผลกำไรและลดรายจ่ายลงวันละหนึ่งบาทมาจัดสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน
นางโพสพ โพธิ์บุปผา ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนเพื่อจัดสวัสดิการในรูปแบบที่หลาหลาย เช่น ทุนการศึกษา ผู้สูงอายุ ค่ารักษาพยายาล เยี่ยมไข้ การสมทบค่าทำศพ ฯลฯ เป็นการจัดสวัสดิการที่มุ่งเน้นให้สมาชิกได้ร่วมกันสมทบ โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพอช. ที่เรียกว่าการสมทบสามฝ่าย
ปัจจุบันสามารถพัฒนาสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นแล้ว 3,076 ตำบล 18,823 หมู่บ้าน มีสมาชิก 878,340 ราย มีเงินกองทุนสวัสดิการกว่า 542.74 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับสวัสดิการไปแล้วทั้งหมด 18,142 ราย
ทั้งนี้ เครือข่ายสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น ยังได้ระดมสมองทำข้อเสนอต่อรัฐบาลถึงแนวทางการสนับสนุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น ดังนี้
1. การสนับสนุนจากรัฐบาล โดยให้รัฐบาลกลางสนับสนุนงบประมาณสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการตำบลในอัตราสมาชิก 1 คน 1 บาท 1 วัน หรือ 365 บาท/คน/ปี ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาคุณภาพกองทุนที่จัดตั้งแล้วได้พัฒนาเครือข่ายเก่าและจัดตั้งกองทุนใหม่ให้องค์กรปกรองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สมทบและสนับสนุนกองทุนสวัสดิการ ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการที่หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการอยู่ให้กองทุนสวัสดิการดำเนินการแทน
2. สนับสนุนให้มีโครงสร้างทางกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น โดยให้มีกองทุนเพื่อสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นในกฎหมายที่เกี่ยวข้องฉบับใดฉบับหนึ่ง ให้มีการออกกฎหมายสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น ให้มีกลไกสนับสนุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นในทุกระดับ
และ 3. บรรจุเรื่องสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาทุกระดับ