xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำชุมชนเสนอยกสวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การจัดงานสวัสดิการชุมชนที่จังหวัดกาญจนบุรี (แฟ้มภาพ)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เครือข่ายสวัสดิการชุมชนร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ-พอช.เตรียมจัดงาน “สมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับชาติ” เสนอยกระดับงานสวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติสร้างหลักประกันชุมชนฐานราก และเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายสมทบกองทุนฯ 1 บาทต่อคนต่อวัน

เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภูมิภาคร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะจัดงาน “สมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับชาติ” ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีนายอิสสระ สมชัย รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นประธานเปิดงาน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาร่วมงานเพื่อมอบนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนสวัสดิการชุมชนและรับข้อเสนอจากชุมชนกลับไปพิจารณา โดยคาดว่าจะมีผู้แทนชุมชน หน่วยงาน และนักวิชาการร่วมงานกว่า 6,000 คน

นายชบ ยอดแก้ว คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติและผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภูมิภาค กล่าวว่า ข้อเสนอของเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภูมิภาคต่อรัฐบาลจะครอบคลุมเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.ให้มีการประกาศเรื่องสวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงของชุมชนฐานราก และฟื้นฟูทุนทางสังคม 2.ให้รัฐบาลสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนให้กับสมาชิกกองทุนในอัตรา 1 บาทต่อคนต่อวัน

นายชบกล่าวว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดสวัสดิการ ที่ดำเนินการและบริหารจัดการโดยชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น ส่วนที่มาของกองทุน แต่เดิมหลายพื้นที่มาจากการสมทบของสมาชิกและหรือการสมทบขององค์กรชุมชนในชุมชนหรือดอกผลจากกลุ่มออมทรัพย์

สำหรับการจัดสมัชชาสวัสดิการชุมชนในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอบทเรียน การจัดสวัสดิการชุมชนสู่ความมั่นคงของชุมชน รวมทั้งการยกระดับงานสวัสดิการชุมชนให้เป็นวาระแห่งชาติ การนำเสนอผลการดำเนินงานของชุมชนและข้อเสนอด้านนโยบายต่อรัฐบาลในการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน

นายอิสสระ สมชัย รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงฯ ได้สนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนมาตั้งแต่ปี 2547 และในปี 2550 กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนรวม 400 ล้านบาท รวมทั้งการแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการแห่งชาติ ปี พ.ศ.2546 เป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมสวัสดิการสังคม ปี 2550 ที่กำหนดเรื่องสวัสดิการชุมชนไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งให้มีผู้แทนองค์กรชุมชนด้านสวัสดิการชุมชนเป็นคณะกรรมการระดับชาติ 8 คน การจัดสวัสดิการชุมชน จึงมีผลต่อการฟื้นฟูระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน ที่ครอบคลุมคนทุกเพศ ทุกวัย ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน

นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า พอช.ให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการชุมชนมาตั้งแต่ปี 2544 ที่ได้สนับสนุนกองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดละ 1 ล้านบาท ทั้ง 76 จังหวัด ให้ผู้สูงอายุในจังหวัดได้บริหารจัดการเอง กระทั่งในปี 2546-2547 ได้สนับสนุนการจัดสวัสดิการผู้นำ และตามด้วยสวัสดิการชุมชนให้มีพื้นที่นำร่องในปี 2548 ที่เริ่มจาก 191 กองทุน (ตำบล) ซึ่ง พอช.ได้สนับสนุนการพัฒนาและสมทบกองทุนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีเครือข่ายชุมชนเป็นหลักในการขับเคลื่อนงาน ทั้งการขยายสมาชิก ขยายกองทุน การระดมทุน รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในการพัฒนาและร่วมสมทบกองทุน

ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการฯ มีการสมทบจาก 3 ฝ่าย คือ สมาชิกในชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐระดับนโยบาย ในปี 2522 มีสวัสดิการชุมชนจำนวน 3,156 ตำบล สมาชิกกองทุน 25,000 หมู่บ้าน จำนวน 1.02 ล้านคน รวมเงินกองทุน ๖๐๑ ล้านบาท ได้จัดสวัสดิการให้กับชุมชนแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ประเภท ครอบคลุมสมาชิกตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้แก่ รับขวัญเด็กเกิดใหม่ ค่ารักษาพยาบาล ทุนการศึกษา ทุนกีฬา พัฒนาอาชีพ บำนาญ ฌาปนกิจ ฯลฯ คุณค่าที่สำคัญคือความรัก ความสามัคคี เพื่อการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน รวมทั้งการทำงานร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น

อนึ่ง พื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งมีการสวัสดิการชุมชนมายาวนาน ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนแล้วในพื้นที่ทั้งระดับตำบลและเทศบาล 132 กองทุน รวมสมาชิกกว่า 123,480 คน มีเงินกองทุนคงเหลือจากการจัดสวัสดิการให้สมาชิกไปแล้ว 9 ประเภทจำนวน 56.4 ล้านบาท โดยใน จ.สงขลา มีพื้นที่ทั้งหมด 107 ตำบล 33 เทศบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น