ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – “หลินฮุ่ย” คลอดฟ้าผ่าลูกแพนด้าตัวแรกในประเทศไทย หลังเพิ่งผสมเทียมได้เพียง 3 เดือน เบื้องต้นพบสุขภาพแข็งแรงดี คาดน้ำหนักไม่น้อยกว่า 200 กรัม ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจีนจะบินด่วนถึงสวนสัตว์เชียงใหม่ พรุ่งนี้ (28 พ.ค.) เพื่อช่วยฟูมฟัก เผย เตรียมติดตั้งโทรทัศน์ถ่ายทอดภาพจากกล้องวงจรปิดให้ชื่นชมใกล้ชิดระหว่างที่แม่ลูกแพนด้ายังไม่สามารถออกมาโชว์ตัวได้
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.39 น.วันนี้ (27 พ.ค.) “หลินฮุ่ย” แพนด้าตัวเมีย ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ตามโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้ให้กำเนิดลูกแพนด้าจำนวน 1 ตัว หลังจากที่ได้ทำการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อของ “ช่วงช่วง” หมีแพนด้าตัวผู้ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2552 ซึ่งเบื้องต้นยังไม่ทราบว่าลูกแพนด้ามีเพศใด เนื่องจาก “หลินฮุ่ย” มีอาการห่วงและกอดลูกไว้เกือบตลอดเวลาไม่ยอมให้เข้าใกล้ แต่ลูกแพนด้ามีสุขภาพแข็งแรงดีและน่าจะมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 200 กรัม
นายโสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า หลินฮุ่ย เริ่มมีการแสดงอาการให้เห็นตั้งแต่ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา จนกระทั่งคลอดลูกออกมาเมื่อช่วงสายวันนี้ โดยเมื่อคลอดออกมา หลินฮุ่ยได้คาบลูกมาไว้ในอ้อมกอดเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้มีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า หลินฮุ่ย จะเป็นแม่ที่ดี และเลี้ยงลูกแพนด้าได้ แม้จะเป็นท้องแรกก็ตาม
อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป ว่า ลูกแพนด้าได้กินนมจากแม่หรือไม่ หากได้กินก็จะให้หลินฮุ่ยเลี้ยงต่อไป แต่ถ้าไม่ก็ต้องพยายามแยกลูกออกมาเพื่อป้อนนม ซึ่งจากการสังเกตเบื้องต้นเชื่อว่าลูกน่าจะได้กินนมไปบ้างแล้ว
สำหรับลูกแพนด้าที่ถือกำเนิดขึ้นภายใต้ความดูแลของโครงการวิจัยและจัดแสดงแพนด้าในประเทศไทยนั้น นายโสภณ กล่าวว่า เป็นลูกแพนด้าที่เกิดขึ้นนอกประเทศจีนด้วยการผสมเทียมเป็นประเทศที่สาม ต่อจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งได้แจ้งข่าวนี้ให้ทางจีนทราบแล้ว และจะมีผู้เชี่ยวชาญจากจีนเดินทางมาถึงสวนสัตว์เชียงใหม่ ในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.) เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการเลี้ยงดูลูกแพนด้า ร่วมกับทีมงานสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ ที่ได้ไปอบรมการเลี้ยงดูมาแล้วจากจีน
ทั้งนี้ ตามสัญญาลูกแพนด้าตัวนี้ จะอยู่ในความดูแลของไทย 24 เดือน จากนั้นจะถูกส่งกลับจีน อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการเจรจาเพื่อขอขยายเวลาออกไปอีก ขณะที่การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ชื่นชมคงจะต้องปรึกษากับทางผู้เชี่ยวชาญจีนอีกครั้ง แต่น่าจะเป็นอีกประมาณ 6 เดือน และจะมีการประกวดตั้งชื่อในเร็วๆ นี้
ขณะที่ สัตวแพทย์หญิง กรรณิการ์ นิ่มตระกุล สัตวแพทย์ประจำโครงการวิจัยและจัดแสดงแพนด้าในประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์จากนี้ จะต้องมีการติดตามดูแลหลินฮุ่ยและลูกแพนด้าตลอดเวลา ว่า มีการให้นมลูกหรือไม่อย่างไร โดยหากลูกแพนด้าได้รับนมจากแม่ตลอด 1 สัปดาห์ ก็จะมีสุขภาพแข็งแรงดี ซึ่งเบื้องต้นนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่หลินฮุ่ยเลี้ยงและดูแลลูกตลอดเวลา จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา
ส่วนการแยกลูกแพนด้านั้น หากเป็นแพนด้าที่เลี้ยงในประเทศจีน หากคลอดลูกแล้วจะทำการแยกจากแม่แพนด้า เมื่อลูกอายุได้ 6 เดือน โดยที่แม่แพนด้าก็จะกลับไปเป็นเหมือนแพนด้าสาวอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหลินฮุ่ยและลูกนั้น เบื้องต้นทางทีมงานตั้งใจว่าจะปล่อยให้การเลี้ยงดูเป็นไปตามธรรมชาติ ที่ปกติแม่แพนด้าจะเลี้ยงดูลูกไปจนกว่าจะมีอายุประมาณ 1 ปี 6 เดือน ที่เริ่มกินไผ่ได้เองแล้ว
ด้าน นายประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการจัดแสดงและวิจัยแพนด้าในประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงนี้ หลินฮุ่ย รวมทั้งลูกแพนด้า จะได้รับการดูแลอยู่แต่ภายในคอกกักเท่านั้น โดยจะยังไม่ปล่อยให้ออกมายังส่วนจัดแสดง อย่างไรก็ตาม เตรียมที่จะทำการติดตั้งโทรทัศน์แล้วถ่ายทอดสัญญาณภาพจากกล้องวงจรปิดมาให้นักท่องเที่ยว และประชาชนที่สนใจได้ร่วมกันชื่นชม จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมให้แพนด้าทั้งแม่และลูกออกมายังส่วนจัดแสดงได้
ขณะที่รายงานล่าสุดช่วงค่ำวันนี้ (27 พ.ค.) แจ้งว่า เจ้าหน้าที่ได้นำลูกแพนด้าออกมาวัดขนาดตัวและชั่งน้ำหนัก พบว่า มีน้ำหนัก 235 กรัม ซึ่งหนักกว่ามาตรฐาน มีความยาวตั้งแต่หัวถึงหาง 17.5 เซนติเมตร รอบหัว 10 เซนติเมตร และรอบอก 17.5 เซนติเมตร ส่วนเพศยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ เพราะอวัยวะเพศมีขนาดเล็กมาก แต่มีแนวโน้มมากว่าน่าจะเป็นตัวเมีย ซึ่งจะต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญจีนมาตรวจอย่างละเอียด
อนึ่ง ที่ผ่านมา ทางทีมงานสัตวแพทย์โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ได้พยายามทำการผสมพันธุ์แพนด้า “ช่วงช่วง” และ “หลินฮุ่ย” มาตั้งแต่ปี 2550 ที่เป็นครั้งแรก ด้วยการให้ผสมพันธุ์ด้วยวิธีการตามธรรมชาติ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ต่อมาในปี 2551 จึงได้มีการนำวิธีการผสมเทียมมาใช้ด้วย โดยการฉีดน้ำเชื้อของ “ช่วงช่วง” เข้าไปในรังไข่ของ “หลินฮุ่ย” แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นเคย จนกระทั่งในปี 2552 ที่มีการผสมเทียมอีกครั้งและประสบผลสำเร็จในที่สุด