ลำปาง - ออป.ยันธุรกิจทำไม้สักยังอนาคตดี แนวโน้มความต้องการพุ่ง ขณะที่ขบวนการผลิตไม่พียงพอความต้องการส่งผลให้ไม้ในแหล่งธรรมชาติถูกลักลอบตัด
นายบุญเลิศ ศรีสุกใส รองผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวระหว่างพบปะสื่อมวลชนจังหวัดลำปางถึงภารกิจของ อ.อ.ป.ในปัจจุบัน ว่า จากเดิม อ.อ.ป.มีหน้าที่ในการอนุรักษ์และส่งเสริมให้มีการปลูกไม้สักเท่านั้น แต่ปัจจุบันภาระหน้าที่ได้เปลี่ยนไป คือ ปัจจุบัน อ.อ.ป.หันมาปลูกไม้สักเป็นไม้เศรษฐกิจ เพื่อจำหน่าย-ปลูกเพื่อเป็นป่าธรรมชาติ และออกให้ความรู้เรื่องการปลูกไม้สักให้กับประชาชนที่สนใจปลูกเพื่อทำธุรกิจควบคู่กันไป
ปัจจุบันในพื้นที่ภาคเหนือมีป่าที่อยู่ในความดูแลของ อ.อ.ป.จำนวนกว่า 300,000 ไร่ เฉพาะจังหวัดลำปางประมาณ 100,000 ไร่ โดยวิธีการดำเนินงาน 60% ของพื้นป่าทั้งหมดจะเป็นป่าธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่อุทยาน 25% เป็นป่าอนุรักษ์ 15% เป็นพื้นที่ไม้เศรษฐกิจ แต่ในจำนวนพื้นที่ที่ใช้ปลูกไม้เศรษฐกิจนั้นทุกปีเมื่อถึงเวลาตัดไม้ ทาง อ.อ.ป.จะตัดเพียง 70% เหลือไว้ 30% ทุกปี
เช่น ปีนี้มีไม้ที่สามารถตัดจำหน่ายได้ประมาณ 120,000 ลบ.ม.ทาง อ.อ.ป.ก็จะตัดเพียง 70% ของยอดที่สามารถตัดได้ ส่วนที่เหลืออีก 30% ก็จะสะสมไว้เพื่อให้เป็นป่าธรรมชาติสะสมไปเรื่อยๆ ดังนั้นจึงทำให้พื้นที่ป่าธรรมชาติเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ส่วนรายได้ในการทำไม้เศรษฐกิจนั้น ในพื้นที่ปลูก 1 ไร่ สามารถผลิตไม้ได้ 15 ลบ.ม.จำหน่ายในราคา 10,000 บาท โดยจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง
สำหรับในอนาคตตนเห็นว่าธุรกิจไม้สักยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก เนื่องจากในปัจจุบันการผลิต หรือการปลูกไม้สักเพื่อขาย ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะส่วนหนึ่งระยะเวลาในการปลูกอย่างน้อย 15 ปี ทำให้ผลิตมีไม่เพียงพอ อีกส่วนหนึ่งคือ หากเป็นชาวบ้านปลูก บางครั้งไม่มีความรู้ ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน หรือสายป่านที่ยาวพอก็สู้ไม่ไหว เนื่องจากเวลานาน และเมื่อปลูกไม้สักแล้วพื้นที่ว่างก็จะปลูกพืชชนิดอื่นไม่ได้ จึงทำให้มีการปลูกไม้สักเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจมีน้อยแต่ความต้องการของตลาดมีสูง ทำให้ไม้สักในพื้นที่ป่าธรรมชาติซึ่ง อ.อ.ป.เป็นผู้ดูแลอยู่ในปัจจุบัน ถูกลักลอบตัดจำนวนมากเช่นกัน