พิจิตร – ชาวบ้านรอบเหมืองทองชาตรี ฮือประท้วงอีก ทนายชาวบ้านจี้ให้ “อัครา ไมนิ่ง” ซื้อที่ดินรอบเขตสัมปทานเหมืองทองคำพิจิตรเหตุได้รับผลกระทบฝุ่น เสียงและน้ำใต้ดิน ขณะที่นายอำเภอตั้งไตรภาคีขึ้นแก้ปัญหา ให้ผู้ถือหุ้นอัคราไมนิ่งฝ่ายคนไทยทำแผนการจัดซื้อที่ดินให้ชัดเจนใน 45 วัน ขณะที่คนงานเหมืองบุกศาลากลางจังหวัดฯค้านปิดเหมือง
วันนี้ (20 พ.ค.) ที่อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ได้มีกลุ่มชาวบ้านเขาหม้อ และหนองระมาน จ.พิจิตร ประมาณ 50 คน เดินทางไปสังเกตการณ์ประชุมร่วมระหว่างตัวแทนเหมืองทองอัคราไมนิ่ง โดยมีนายประวิทย์ ประวัติเมือง นายอำเภอทับคล้อ, ผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก, นายเบญจพล จาดข้า ทนายความชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบ และนายฟิลล์ แม็คเอนไนท์ ผู้จัดการบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เข้าร่วมเพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีชาวบ้านรอบเหมืองทองชาตรีของบริษัทฯ ชุมนุมประท้วงต่อต้านการทำเหมืองทองดังกล่าว
ที่ประชุมข้อสรุป คือ 1.ให้ตัวแทนฝ่ายจัดซื้อที่ดินของผู้ถือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ฝ่ายคนไทย จัดทำแผนการจัดซื้อที่ดินให้ชัดเจน โดยกำหนดเป็นโซนนิ่งและระยะเวลาในการเจรจาของแต่ละรายที่อยู่ในโซนนิ่งให้เสร็จภายใน 45 วันนับแต่วันบันทึก
2.ตั้งคณะทำงานระดับอำเภอ ประกอบไปด้วย นายอำเภอทับคล้อ ผู้แทนบริษัท อัคราไมนิ่ง ผู้แทนชาวบ้าน เพื่อทำหน้าที่แก้ไข ปัญหาในระดับพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุการณ์การประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์การประท้วงหน้าเหมืองชาตรี (อัคราไมนิ่ง) วันที่ 11 พ.ค.52 ที่ผ่านมา ชาวบ้านรอบเหมืองเรียกร้องให้เหมืองหยุดกิจการหรือให้หยุดทำเหมืองเวลากลางคืน หรือไม่ก็ให้เหมืองดำเนินแก้ไขในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบเหมือง เนื่องจากได้รับผลกระทบเสียงและฝุ่นระลองและน้ำ ไม่มีให้ทำนา หากไม่ดำเนินการ ให้เหมืองทองคำซื้อที่ดินรอบเหมือง ต่อมาตัวแทนเหมืองชี้แจงว่า จะประชุมร่วมในวันที่ 20 พ.ค.52 การชุมชุมจึงยุติลง
ด้าน นายฟิลล์ แม็คเอนไนท์ ผู้ขจัดการบริษัท อัคราไมนิ่ง ชี้แจงในที่ประชุมว่า เดินทางมาวันนี้เพราะรับปากกับผู้ชุมชุมประท้วงหน้าเหมืองเมื่อวันที่ 11 พ.ค.52 โดยที่เขาไม่มีหน้าที่จัดซื้อที่ดิน และรู้ว่าการเรียกร้องหรือประชุมครั้งนี้ไม่ใช่ชาวบ้านทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบ
รายงานข่าวจากจังหวัดพิจิตร แจ้งว่า ในวันเดียวกันกลับมีคนงานเหมืองทองอัคราไม่ต่ำกว่า 50 คนเดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตร เพื่อประท้วง หากคนงานเหมืองต้องหยุดงานเพราะถูกชาวบ้านประท้วง หรือต้องการให้เหมืองย้ายออกไป จากเดิมที่พวกเขาเตรียมเดินทางมาที่หน้าที่ว่าการอำเภอทับคล้อ ที่มีการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นสถานที่ชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง แต่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ โดยย้ายไปชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตรแทน