xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น NPL อสังหาฯ เชียงใหม่คืนชีพ ตัวเลขขออนุญาตก่อสร้างใหม่นิ่งสนิท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จันทวรรณ สุจริตกุล
เชียงใหม่ - อสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่นิ่งสนิท ผู้ประกอบการหน้าใหม่หายจ้อยเหตุโครงการเก่าขายไม่ออกแถมมีแนวโน้มบ้านที่ขายไปแล้วอาจกลับมาเป็นNPLอีกรอบ หวั่นโครงการหลายแห่งมีสภาพบ้านร้างเกลื่อนโครงการจนต้องส่งสัญญาณขายยกโครงการด้านนักลงทุนรายใหญ่ที่ถือครองที่ดินแปลงใหญ่ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ต่างชะลอโครงการรอจังหวะเศรษฐกิจฟื้น

รายงานข่าวจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ รายงานถึงแนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2552 ว่าจะชะลอตัวและไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มมากนัก โดยในช่วงปีที่ผ่านมามีการเปิดตัวใหม่เพียง 30 โครงการเท่านั้น และในภาวะวิกฤตขณะนี้คาดว่าจำนวนบ้านที่ขายไปแล้วอาจจะเกิดการย้อนกลับมาอยู่ในหน่วยที่ยังไม่ได้ขายเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสภาพเศรษฐกิจใกล้เคียงกับเชียงใหม่ ทั้งภูเก็ต ชลบุรี ฯลฯ ที่มีอัตราการขายและโอนเฉลี่ยเพียง 60% เท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าตลาดอสังหาฯ เชียงใหม่ ยังไม่ได้แย่มากนัก

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้ทำการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยตามผังโครงการรวม 17,592 หน่วย มีหน่วยเหลือขายรวมทั้งสิ้น 5,706 หน่วย ด้านการก่อสร้างมีบ้านจัดสรรยังไม่เริ่มก่อสร้างจำนวน 5,770 หน่วย สำหรับ โครงการอาคารชุด ที่อยู่ระหว่างการขายในช่วงไตรมาส 3 ปี 2551 และมีหน่วยเหลือขายตั้งแต่ 6 หน่วยขึ้นไป มีจำนวน 12 โครงการ รวม 1,600 หน่วย มีหน่วยที่ขายได้ (ทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ปี 2551) 785 หน่วย มีหน่วยเหลือขายรวมทั้งสิ้น 815 หน่วย และมีหน่วยที่โอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วทั้งสิ้น 451 หน่วย

นอกจากผลสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยดังกล่าวข้างต้น ศูนย์ข้อมูลฯได้รวบรวมจัดเก็บข้อมูลสถิติการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสรุปภาพรวมได้ว่า ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีโครงการได้รับใบอนุญาตจัดสรรในปี 2551 จำนวน 21 โครงการ รวม 1,618 หน่วย แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 910 หน่วย และที่ดินเปล่าจัดสรร 708 หน่วย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดสรรประเภทโครงการบ้านจัดสรรมีหน่วยเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 68 ขณะที่ที่ดินเปล่าจัดสรรลดลงร้อยละ 38 ส่วนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและมีทะเบียนบ้าน (Housing Stock) ในจังหวัดเชียงใหม่ ณ สิ้นปี 2551 มีจำนวนรวม 636,928 หน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปี 2550

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ กล่าวถึงตัวเลขการลงทุนด้านการก่อสร้างในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2552ที่ผ่านมาว่า แบงก์ชาติภาคเหนือได้รับตัวเลขสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ลดลงไปถึงร้อยละ 10 โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมจากการจดทะเบียนที่ดินลดลงไปกว่าร้อยละ 30 จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสนใจในการลงทุนระยะต่อไปว่า ประเภทพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลจะลดลงถึงร้อย 35 นอกจากนี้แล้วในส่วนของตัวเลขการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 859 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหมวดของผลิตภัณฑ์โลหะเครื่องจักรอุปกรณ์เป็นสำคัญซึ่งไม่เกี่ยวกับการลงทุนการก่อสร้างแต่อย่างใด

ด้านนายเจนกิจ สวัสดิโอ กรรมการบริษัทกิตติทิพย์พร๊อพเพอร์ตี้ เปิดเผยถึงภาวะการลงทุนในวงการอสังหาริมทรัพย์ของเชียงใหม่ว่า เท่าที่มีการพูดคุยในวงการอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่จะพูดในทำนองเดียวกันว่า ในระยะนี้จนอาจจะถึงสิ้นปีนี้จะไม่มีการลงทุนใด ๆ เพราะไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ต่างๆ ได้เลยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจหรือการเมือง ช่วงนี้ผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องประคองธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอดไปก่อนโดยจะไม่มีการลงทุนอะไรใหม่ๆ เพียงแต่ขายโครงการเดิมที่เหลืออยู่หรือแม้กระทั่งกิจการที่มีอยู่เดิมหากจะมีคนมาซื้อก็จะขายให้ทันที เช่น ธุรกิจโรงแรมหรือโครงการบ้านจัดสรรที่มีการยกขายกันทั้งโครงการแต่เป็นโครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างหรือไม่ก็ยังขายไม่หมดเป็นต้น

ส่วนโครงการใหญ่ๆ ซึ่งเป็นของนักลงทุนจากส่วนกลางที่มีการซื้อขายที่ดินแปลงใหญ่ ๆ ไปก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ที่ได้ซื้อที่ดินประมาณ 60 ไร่ บริเวณสี่แยกศาลเด็ก ติดถนนเชียงใหม่-ลำปางอีกด้านหนึ่งติดกับถนนสายเชียงใหม่-เชียงราย โดยที่ดินส่วนใหญ่ในบริเวณดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นที่ดินของตระกูลเลียวสวัสดิพงษ์และหยุ่นศิลา นอกนั้นเป็นการรวบรวมจากเจ้าของรายย่อยอีกหลายรายเพื่อรวมเป็นแปลงเดียวกัน โดยที่ดินบริเวณดังกล่าวเซ็นทรัลจะสร้างเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งนี้มีกระแสข่าวออกมาว่าทางกลุ่มเซ็นทรัลฯได้ชะลอโครงการนี้ออกไปอีกระยะหนึ่ง

นายเจนกิจกล่าวอีกว่า ตอนนี้ทุกคนบ่นเหมือนกันหมดโดยเฉพาะบรรดาธุรกิจโรงแรมที่แทบจะสิ้นหวังไปตามๆ กัน เพราะไม่ใช่นักท่องเที่ยวจะลดลงไปแล้ว ยังประสบปัญหาภาวะการแข่งขันกันเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจประเภทอพาร์ตเมนต์ที่ถือเป็นคู่แข่งทางการตลาดที่สำคัญของโรงแรมระดับ3-4 ดาวเลยทีเดียว เนื่องจากเท่าที่สำรวจพบว่าอพาร์ตเมนต์รอบนอกเขตเทศบาลเพียงเล็กน้อยราคาจะอยู่ที่ 650 บาทต่อห้องต่อคืนแทบจะเท่ากันทุกที่ในขณะที่โรงแรมมีการตั้งราคาโดยลดลงมาแล้วอยู่ที่ 800-1,000 บาท ส่วนใหญ่ก็จะหันไปพักอพาร์ตเมนต์แทบทั้งสิ้นเนื่องจากมีอพาร์ตเมนต์เปิดใหม่จำนวนมาก

“เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วโรงแรมจะอยู่ได้อย่างไร ในขณะที่มีต้นทุนในเรื่องของพนักงานและบริการที่มากกว่า”
กำลังโหลดความคิดเห็น