xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯน่านเตือนจัดเลี้ยงกินลาบดิบระวังโรคหูดับแถมเจ้าภาพถูกจับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น่าน-จังหวัดน่านเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังและป้องกันโรคหูดับ หรือโรคติดเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส ซูอิสโดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มักจะนำอาหารสุก ๆดิบ ๆ มาจัดเลี้ยงระบุหากผู้มางานเลี้ยงเกิดโรคหูดับทางเจ้าภาพต้องรับผิดชอบและอาจถูกดำเนินคดี

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า ด้วยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จังหวัดน่าน ได้พบผู้ป่วยด้วยโรคหูดับ หรือ โรคติดเชื้อจากแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ซูอิส จำนวน 2 ราย รายที่ 1 พบเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นผู้ป่วยจากอำเภอท่าวังผา รายที่ 2 พบเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นผู้ป่วยจากอำเภอทุ่งช้าง ผู้ป่วยทั้งสองรายมารับการรักษาที่โรงพยาบาลน่าน ด้วยอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เดินเซ และหูข้างขวาสูญเสียการได้ยิน และมีประวัติรับประทานลาบหมูดิบ ผลจากการเพาะเชื้อจากเลือดพบเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส

สาเหตุของโรคหูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ สเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) เชื้อจะอยู่ในโพรงจมูก และในช่องปากของหมู โดยไม่แสดงอาการ แต่จะแพร่เชื้อมาสู่คน โดยการรับประทานหมูดิบ ๆ ทั้งเนื้อ เครื่องใน เลือด หรือสัมผัสหมูที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้เลี้ยง ผู้ชำแหละ หลังได้รับเชื้อ 1 – 3 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน บางรายอาการโคม่า ชักกระตุก เป็นอัมพาต บางรายอาจมีอาการอักเสบที่เยื่อบุหัวใจ ปอด สายตาพร่ามัว หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะหลังรับประทานหมูดิบใน 3 วัน

ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคหูดับ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2552 นี้ โดยเฉพาะการจัดงานเลี้ยงฉลองซึ่งมักมีอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาจทำให้เกิดระบาดของโรคในกลุ่มคนที่มาร่วมงานและรับประทานอาหารร่วมกันได้ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง และป้องกันโรคหูดับ หรือโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ซูอิส ในสุกร โดยเฉพาะการจัดงานเลี้ยง งานประเพณี ให้งดเว้นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ

เช่น ลาบ หลู้ ส้า ควรนำอาหารประเภทนี้มาทำให้สุกก่อนรับประทาน เพราะหากเกิดโรคแล้วจะมีผลกระทบกับคนจำนวนมาก หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นเจ้าภาพจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ในการถวายอาหารแก่พระ การจัดงานคารวะผู้ใหญ่ การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ควรจัดอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ไม่ควรจัดอาหารประเภทที่ปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ และให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่ ควรเข้มงวดกวดขันตรวจสอบโรงชำแหละเนื้อสัตว์ พร้อมแนะนำผู้ชำแหละ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทาน
กำลังโหลดความคิดเห็น