ศูนย์ข่าวศรีราชา-ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 และ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ลงพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ตรวจเยี่ยม ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเล ภาคใต้ตอนบน จังหวัดชุมพร บูรณาการแก้ไขปัญหาประมงชายฝั่ง จับกุมผู้กระทำความผิดจับปลาเขตหวงห้าม 3,000 กิโลเมตร ฤดูปิดอ่าวให้ปลาวางไข่
วันนี้ (27 มี.ค.) พลเรือโท ชัยวัฒน์ พุกกะรัตน์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 และ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พลเรือตรี วรศักดิ์ จันหนู รองผู้บัญชาการ พลเรือตรี นภดล สุธัมมสภา รองผู้บัญชาการ พลเรือตรี ทวีป สุขพินิจ เสนาธิการ นาวาเอก อานนท์ ดาระสวัสดิ์ รองเสนาธิการ และฝ่ายอำนวยการ ได้เดินทางไปยังศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเล ภาคใต้ตอนบน กรมประมง จังหวัดชุมพร
ทั้งนี้ มี นายจรูญศักดิ์ เพชรศรี หัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมง ภาคใต้ตอนบน ให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปถึงการปฎิบัติขอบเขตความรับผิดชอบ ประมงชายฝั่งในเขต จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลงานการปฏิบัติในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายในทะเลอย่างต่อเนื่อง สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้จำนวนมาก เฉพาะในปีงบประมาณ 2551 จับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายและพระราชบัญญัติในทะเลได้เกือบ 100 ครั้ง
นายจรูญศักดิ์ เพชรศรี หัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเล เปิดเผยว่า นอกจากจะปฏิบัติงานด้านป้องกันและปราบปรามแล้ว ยังได้ทำงานด้านประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแสวงหาความร่วมมือ สร้างภาพลักษณ์ ความเข้าใจระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ ปัญหาที่พบมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ เครื่องมือคาดหอยลาย ที่ส่งผลกระทบต่อประมงอื่น ๆ อย่างมาก
ในช่วงฤดูกาลปิดอ่าวตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552 จนถึง 15 พฤษภาคม 2552 ได้มีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อควบคุมและสั่งการ บูรณาการ ระหว่าง จังหวัด อำเภอตำรวจน้ำ ดูแลร่วมกันหลายฝ่ายในพื้นที่ 16 ล้านไร่ เพื่อไม่ให้มีการทำประมงในเขตหวงห้าม ซึ่งเป็นฤดูปลาวางไข่
พลเรือโทชัยวัฒน์ เปิดเผยว่า การมาตรวจเยี่ยมในครั้งนี้เพราะต้องการทราบถึงปัญหา ข้อขัดข้องในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เพื่อนำปัญหาทั้งหมดเสนอ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ปัญหาที่พบในพื้นที่ขณะนี้ ก็คือ จำนวนสัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว หลายชุมชนประสบกับความล้มเหลวในเรื่องของการอนุรักษ์ ธรรมชาติขาดความสมดุลทำให้การก่อเกิดของสัตว์มีปัญหา แนวทางที่จะเพิ่มปริมาณปลาให้มากขึ้นจะใช้มาตรการปิดอ่าวอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องหาวิธีการ แนวทางในการเพิ่มปริมาณปลาให้มากกว่าปกติด้วย จึงจะสอดคล้องกับการอนุรักษ์
พลเรือโทชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการปราบปรามผู้กระทำความผิดในฤดูปิดอ่าว จะส่งเรือหลวงสุโขทัย และเรือตรวจการณ์ หมายเลข 95 ไปลาดตระเวนในพื้นที่ 16 ล้านไร่ เพื่อสมทบกับศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงลายฝั่ง ตำรวจน้ำ เพิ่มความถี่ เพิ่มพื้นที่ในการลาดตระเวนให้กว้างขึ้นกว่าปกติ จะสามารถช่วยบรรเทาการกระทำความผิดได้อย่างแน่นอน