xs
xsm
sm
md
lg

ชมดาวหาง “ลู่หลิน” ใกล้โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลู่หลินโคจรเข้าใกล้โลกสุด
ฉะเชิงเทรา - ดาวหาง C/2007N3 หรือลู่หลิน โคจรเข้าใกล้โลกสุด ขณะนักดาราศาสตร์สามารถถ่ายบันทึกภาพที่น่าตื่นเต้นไว้ได้จากหลายภูมิภาคในประเทศ พร้อมเผยภาพขณะที่มีดาวเทียมโคจรผ่านตัดหน้าดาวหางลู่หลินจนเห็นเป็นเส้นสีเขียวขีดยาวบนท้องฟ้า

วันนี้ (25 ก.พ.) เวลา 01.00 น. นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า ได้เกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่อยากให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามเฝ้าสังเกตการณ์ เนื่องในปีดาราศาสตร์สากลปีนี้ คือ ปรากฏการณ์ดาวหางลู่หลินโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด ที่ระยะ 0.411 AU (AU คือ หน่วยวัดระยะทางดาราศาสตร์ เทียบจากระยะทางระหว่างโลก และดวงอาทิตย์) หรือ ประมาณ 61,484,778 กิโลเมตร

โดยมีความสว่างที่ 6.0 แมกนิจูด ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องขนาดสองตาขึ้นไป ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ตั้งแต่ขณะขึ้นจากขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกในเวลา 21.00 น.ของวันที่ 24 ก.พ. แต่อาจจะมีอุปสรรคที่จะทำให้การเฝ้าติดตามยากลำบาก เนื่องจากท้องฟ้าหลัว จากเมฆหมอกที่ลงหนาจัด และจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในเวลา 01.00 น. ซึ่งในการสังเกตนั้นให้หันหน้าไปทางด้านทิศใต้ แล้วแหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้าที่มุมเกือบจะกึ่งกลางศีรษะ โดยขณะนี้อยู่ในกลุ่มของดาวหญิงสาว (Virgo) และจะมองได้เห็นชัดเจนขึ้นในเวลาดังกล่าว

สำหรับดาวหางลู่หลิน หรือ C/2007N3 ดวงนี้ ถูกค้นพบโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวจีน คือ นายเย่ เฉวียน จื้อ (QUANZHI YE) วัย19 ปี ซึ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยซุนยัดเซน เมืองกวางชู เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ปี ค.ศ.2007 ที่หอดูดาวลู่หลิน เมืองหนันโทว ประเทศไต้หวัน หลังจากเคยได้ติดตามชื่นชมดาวหาง เฮลพ์ บอบฟ์ ที่โคจรผ่านเข้าใกล้โลกไปก่อนหน้านี้จนเกิดความสนใจเฝ้าติดตามดาวหางดวงอื่นๆ

โดยล่าสุดตนได้ทำการบันทึกภาพดาวหางลู่หลิน ขณะที่ดาวเทียมกำลังโคจรผ่านหน้า จนเห็นเป็นเส้นสีเขียวไว้ได้ ที่หอดูดาวบัณฑิต ตลาดบางบ่อ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โดยใช้กล้องถ่ายภาพดิจิตอล ต่อเชื่อมเข้ากับกล้องดูดาวแบบโทรทรรศน์ ขนาด 11 นิ้ว เปิดหน้ากล้องนาน 60 วินาที ที่ค่า ISO 1600

ส่วน ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ได้เฝ้าติดตามถ่ายภาพดาวหางลู่หลิน เช่นกับที่ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ สามารถถ่ายภาพดาวหางดวงดังกล่าวได้ ขณะที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยเห็นเป็นหัวสีเขียวที่มีหางยาวที่ชัดเจนขึ้นกว่าทุกวัน
ดาวเทียมโคจรผ่านหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น