ศูนย์ข่าวศรีราชา - กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งและซูริมิในเขตจังหวัดฉะเชิงเทราเตรียมปรับกลยุทธ์พัฒนาระบบไอทีร่วมแข่งขันเวทีโลกรับเศรษฐกิจปี 2552
นายทวี ชอบตวงทอง ประธานกรรมการบริหารบริษัท ห้องเย็น กู้ดฟอร์จูน จำกัด เขต จ.ฉะเชิงเทรา เผยในการเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งและซุริมิในเขตจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก ของที่ปรึกษาโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า ธุรกิจจะเป็นในส่วนของอหารทะเลแช่แข็งประเภทกุ้งที่ส่งออกจำหน่ายยังภัตตาคารที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบยุโรปทั้งหมด 100 %
ด้วยการดำเนินการมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ทำให้บริษัทเน้นหนักในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยมาเป็นจุดแข็งในการแข่งขัน และจากผลพวงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งแต่ทว่ายังไม่มียอดการระงับหรือสั่งซื้อสินค้าแต่อย่างใด
“เราผลิตส่งออกเดือนละ 300 ตันตามฤดูกาล บางช่วงสูงถึง 400 ตันต่อเดือน ซึ่งเราจักรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้โดยไม่เน้นขยายฐานลูกล้าให้มากขึ้นเพียงแต่รักษาลูกค้าเก่าไว้เท่านั้น เพราะเขาเชื่อมั่นในคุณภาพของเรา แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ดูการตลดาเลยเราใช้เอเยนต์ในการหาตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาเช่นกัน ซึ่งเราเริ่มจะดูลูกค้าในส่วนของประเทศดูไบ และออสเตรเลียในปีนี้” นายทวี กล่าว
ด้าน นางสุรวดี ซู ผู้ช่วยผู้บริหารบริษัทให้ข้อมูลอีกว่า ขณะนี้บริษัทมีความสนใจในเรื่องของระบบเทคโนโลยีในการควบคุมการทำงาน ซึ่งดูในส่วนของระบบซอฟแวร์ที่จะเข้ามาจัดการในเรื่องต่างๆ ของบริษัท ทั้งเรื่องการผลิต การเก็บสินค้า ระบบเอกสารภายใน และระบบจัดการสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมาบริษัทมีบุคคลากรที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว แต่มีแนวโน้มจะใช้ระบบซอฟแวร์เพิ่มมากขึ้น เพราะมองดูแล้วเป็นเรื่องสำคัญในการแข่งขันในเวทีระดับโลก ที่ต้องมีมาตรฐานครอบคลุมทั้งระบบอย่างเบ็ดเสร็จ โดยไตรมาสแรกของปีนี้ยังเป็นช่วงของฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาทำเป็นสินค้าส่งออก จึงยังรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้โดยอาศัยระบบไอทีมาเป็นตัวช่วย เพราะปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจประเภทเดียวดันนี้มีการแข่งขันค่อนข้างสูงทั้งในประเทศและระดับประเทศ
“บริษัทเคยได้รับรางวัลเป็นโรงงานต้นแบบของประเทศในการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยประสบความสำเร็จจากการใช้จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย จนเป็นโรงงานตัวอย่างและได้รับรองมาตรฐาน GMP, HACCP, ISO 900 : 2000 ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างมาก และในเรื่องนี้เองจะได้นำเอาเทคโนโลยีระบบซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน” นางสุรวดี ระบุ