xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มช.เผยคนเชียงใหม่เสี่ยงมะเร็งปอดสูงกว่าทั่วประเทศ 4 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – แพทย์นักวิจัย ม.เชียงใหม่ เผยผลการศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างอาการเจ็บป่วยกับสารมลพิษอากาศ พบมีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน พร้อมตั้งข้อสังเกตแม้ในวันที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก็ยังมีผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย แนะกรมควบคุมมลพิษกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพให้เข้มข้นขึ้น ขณะเดียวกัน ชี้ คนเชียงใหม่เสี่ยงป่วยมะเร็งปอดสูงกว่าทั่วประเทศ 4 เท่าตัว คาดมลพิษอากาศชุก จี้ ทุกฝ่ายช่วยเร่งป้องกันแก้ไข

รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยตามโครงการจัดตั้งศูนย์ประสานและเตือนภัยคุณภาพอากาศภาคเหนือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) ที่ดำเนินการระหว่าง 1 ม.ค.-30 เม.ย.2551 ว่า

การศึกษาดังกล่าวใช้วิธีการสัมภาษณ์ถึงอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับสารมลพิษทางอากาศครอบคลุม 4 ระบบ คือ ระบบทางเดินหายใจ หัวใจ ผิวหนัง และตา จำนวน 19 อาการ ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งจะมีการสัมภาษณ์ทุกวันๆ ละ 100 ตัวอย่าง อำเภอละ 25 ตัวอย่าง

ข้อมูลที่ได้จะนำมาเปรียบเทียบวิเคราะห์ทุกวัน ร่วมกับข้อมูลคุณภาพอากาศ ที่บันทึกโดยเครื่องตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษทั้ง 2 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ และข้อมูลอุตุนิยมวิทยา

จากผลการศึกษาในช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-30 เม.ย.2551 ที่ผ่านมา พบว่า ระดับคุณภาพอากาศมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจน กับอาการเจ็บป่วยของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งในบางวันพบว่ามีกลุ่มตัวอย่างถึง 60% ของกลุ่มตัวอย่างที่มีอาการเจ็บป่วย

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้ในวันที่คุณภาพอากาศยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ก็ยังมีกลุ่มตัวอย่างที่มีอาการเจ็บป่วย ซึ่งจากข้อสังเกตดังกล่าวเห็นว่า น่าจะมีการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศ ของกรมควบคุมมลพิษที่ใช้อยู่ให้มีความเข้มข้นมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน เช่น การปรุงปรุงการกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ที่ปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เหมือนในสหภาพยุโรป เป็นต้น

“ผลจากการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ในครั้งนี้ ช่วยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างระดับคุณภาพอากาศ และอาการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน หลังจากที่เคยมีความเคลือบแคลงสงสัยกันมานาน โดยจะเห็นได้ว่าพอวันใดคุณภาพอากาศแย่ลง ก็ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนมีอาการเจ็บป่วยต่างๆ ตามไปด้วย” รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงศ์เทพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าคณะนักวิจัยโครงการจัดตั้งศูนย์ประสาน และเตือนภัยคุณภาพอากาศภาคเหนือ ยอมรับว่า การจะผลักดันให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีข้อมูลงานวิจัยสนับสนุนอย่างหนักแน่นเพียงพอด้วย ซึ่งเวลานี้ตนเองและทีมวิจัย ได้จัดทำโครงการวิจัยดังเช่นที่ทำระหว่าง 1 ม.ค.-30 เม.ย.2551 แต่เพิ่มระยะเวลาการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเป็น 1 ปีเต็ม เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนครอบคลุมทุกฤดูกาล โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการขอการสนับสนุนจากทาง สกว.

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงศ์เทพ เพิ่มเติมว่า ตามข้อมูลปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราผู้ป่วยมะเร็งปอดประมาณ 40 คนต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ในภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ มีอัตราผู้ป่วยมะเร็งปอดเฉลี่ยประมาณ 10 คนต่อประชากร 100,000 คน

ทังนี้ จะเห็นได้ว่า ประชากรของจังหวัดเชียงใหม่ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่นๆ หลายเท่าตัว โดยสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งอาจจะมาจากมลพิษอากาศ ทั้งจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์และจากการเผาทุกชนิด ที่ก่อให้เกิดสารมลพิษที่เป็นสารก่อมะเร็งเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายของผู้คน

โดยส่วนตัวเห็นว่า หากปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ ของเมืองเชียงใหม่อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว น่าเป็นห่วงว่าในอีก 10 ข้างหน้า จะมีผู้ป่วยมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

อนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างสารมลพิษกับอาการเจ็บป่วยตามการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ส่งผลให้เกิดอาการในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ การแสบคอ เสียงแหบ หายใจลำบาก ไอแห้งๆ ขณะที่ระบบหัวใจมีอาการ ได้แก่ ชีพจรเต้นเร็ว ส่วนระบบตา ได้แก่ ตาแดง มองเห็นภาพไม่ค่อยชัด น้ำตาไหล แสบ หรือคันตา

สำหรับก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้คัดจมูก แสบจมูก มีน้ำมูก หายใจลำบาก ส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจ ทำให้เหนื่อยง่าย และส่งผลกระทบต่อระบบตา ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด

ส่วนก๊าซพิษอื่น อย่างเช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก็ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ และระบบผิวหนัง และระบบตา ส่วนก๊าซโอโซน ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและระบบตา
กำลังโหลดความคิดเห็น