ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – นักวิชาการย้ำฝายเก่าน้ำปิงไม่ได้เป็นต้นเหตุน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ชี้ต้นตอหลักมาจากการที่พื้นที่ริมตลิ่งถูกบุกรุกอย่างหนักจนบางจุดเหลือความกว้างเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นเมื่อเทียบกับในอดีต จี้รัฐเร่งจัดการจริงจัง แนะกรมชลประทานทบทวนโครงการประตูระบายน้ำมูลค่า 500 ล้านบาท โดยยึดหลักความต้องการของชุมชนเป็นหลัก หวั่นภูมิปัญญาดั้งเดิมในการบริหารจัดการน้ำสูญสลาย ด้านผู้ใช้น้ำเหมืองฝายจ่อยื่นรัฐบาล “อภิสิทธิ์” ล้มเลิกโครงการ
ดร.วสันต์ จอมภักดี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานคณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็นต่อโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ พร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่งในแม่น้ำปิงเพื่อแก้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาทของกรมชลประทานว่า ที่ผ่านมาที่มีการระบุว่าฝายเก่าทั้ง 3 แห่ง เป็นตัวขวางกั้นการระบายของน้ำในแม่น้ำปิงช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่จนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมในช่วงน้ำหลากนั้น เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าฝายไม่ได้ต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วม เพราะตัวฝายโดยเฉพาะฝายพญาคำที่เป็น 1 ใน 3 ฝาย ที่อยู่ในโครงการที่จะต้องถูกรื้ออยู่ต่ำกว่าริมตลิ่ง 2-3 เมตร จึงไม่ได้เป็นตัวขวางกั้นทางน้ำ และหากจะบอกว่าฝายเป็นตัวขวางกันทางน้ำก็คงจะต้องรื้อฝายที่มีอยู่จำนวนมากตลอดลำน้ำแม่ปิงออกไปทั้งหมด
ประธานคณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม กล่าวด้วยว่า ระบบเหมืองฝาย เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชนในล้านนาที่มีการสืบทอดมายาวนานหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นระบบการบริหารจัดการที่เป็นสากล เพราะมีการยึดหลักธรรมาภิบาลและผู้ใช้น้ำทุกคนได้มีส่วนร่วมอยู่ในระบบ หากจะต้องสูญสลายไปเพราะโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำถือว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น หากกรมชลประทานต้องการที่จะทำโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ เห็นว่าก่อนอื่นจะต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกับทางกลุ่มผู้ใช้น้ำให้เข้าใจและรับฟังความต้องการของกลุ่มผู้ใช้น้ำด้วยว่าเห็นด้วยกับโครงการหรือไม่ โดยจะต้องยึดหลักความต้องการของชุมชนเป็นที่ตั้ง
สำหรับต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่นั้น ดร.วสันต์ ระบุว่า สาเหตุหลักมาจากการบุกรุกพื้นที่ริมตลิ่งตลอด 2 ฟากฝั่งของแม่น้ำปิง ทำให้ความกว้างของแม่น้ำปิงในบางช่วงมีความคับแคบมาก จนไม่สามารถระบายน้ำได้ทันในช่วงน้ำหลาก โดยความของลำน้ำปิงช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่หลายจุดมีความคับแคบลงจากในอดีตหลายเท่าตัว ซึ่งบางจุดปัจจุบันมีความกว้างเพียง 1 ใน 5 เมื่อเปรียบเทียบกับความกว้างในอดีตเท่านั้น ดังนั้นตราบใดหากที่ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาการบุกพื้นที่ริมตลิ่งที่ควรจะเป็นพื้นที่รองรับน้ำได้อย่างจริงจังเด็ดขาดแล้วก็ย่อมที่จะมีโอกาสเกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่อยู่ตลอด
ด้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝาย 3 แห่ง ได้แก่ ฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล ที่จะถูกรื้อตามโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำของกรมชลประทานนั้น รายงานข่าวแจ้งว่า ในเร็วๆ นี้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เตรียมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการนี้จากผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง โดยจะให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการและจะมีการเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม รวมทั้งกรมชลประทานที่เป็นเจ้าของโครงการ
นอกจากนี้ ยังมีการระบุว่าทางกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายยังได้เตรียมที่จะยื่นหนังสือถึงรัฐบาล “อภิสิทธิ์” เพื่อเรียกร้องให้ให้ยกเลิกโครงการนี้ด้วย หลังจากที่เคยยื่นหนังสือเรียกร้องมาแล้วหลายต่อหลายครั้งตลอดช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีความพยายามผลักดันโครงการนี้