ศูนย์ข่าวเชียงใหม่- ชลประทานเตรียมพร้อมแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว รับมือน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ช่วงน้ำหลากปีนี้ จัดตั้งศูนย์ประสานงานติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำใกล้ชิด ขณะที่เขื่อนแม่งัดและเขื่อนแม่กวง ยังสามารถรับปริมาณน้ำได้อีกมหาศาล ส่วนโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำแล้วรื้อ 3 ฝายเก่าในแม่น้ำปิงทิ้งก็ยังเดือนหน้า แม้จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ล่าสุดอยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์เพิ่มเติม หลังถูกกลุ่มมวลชนในพื้นที่โครงการคัดค้าน
นายชนะชัย วัฒนา ผู้อำนวยการส่วนจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักชลประทานที่ 1 เปิดเผยการเตรียมความพร้อมป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ว่า ขณะนี้มีการดำเนินการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ แผนระยะสั้นและระยะยาว โดยในส่วนของระยะสั้นนั้น เวลานี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและติดตามสถานการณ์น้ำทั้งก่อนน้ำมา ระหว่างน้ำมา และหลังจากน้ำมา รวมทั้งการบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม มีการเตรียมพร้อมระบบแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม และเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ เวลานี้เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 112.3 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็น 42.69 % ของความจุ 265 ล้านลบ.ม. เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำ 53.228 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 20.08% ของความจุ 263 ล้านลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำของเขื่อนทั้ง 2 แห่งยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกประมาณ 60% และ 80% ตามลำดับ
ส่วนการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ในระยะยาว จะต้องมีการสร้างอ่างเก็บน้ำในลำน้ำแม่ปิงและลำน้ำสาขาเหนือตัวเมืองเชียงใหม่ ทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก กลางและใหญ่ โดยเฉพาะการสร้างอ่างเก็บน้ำในลำน้ำแม่แตง ที่เป็นลำน้ำสายหลักสายหนึ่งที่มีปริมาณน้ำมากและเป็นตัวแปรสำคัญ ที่มีผลต่อการเกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาระยะยาว กรมชลประทานได้มีการศึกษาและจัดทำแผนดำเนินการแล้ว
นอกจากนี้ นายชนะชัย ยังกล่าวถึงโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและรื้อฝายเก่า 3 แห่งในแม่น้ำปิง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ว่า โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ และรื้อฝายเก่า 3 แห่งในแม่น้ำปิง ได้แก่ ฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล ของกรมชลประทาน ยังคงมีการดำเนินการอยู่ โดยเวลานี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดการประชาพิจารณ์เพิ่มเติม เนื่องจากยังมีมวลชนที่ไม่เห็นด้วยและไม่เข้าใจโครงการอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งยังไม่แน่ใจเช่นกันว่าการประชาพิจารณ์จะแล้วเสร็จเมื่อใด
สำหรับการรื้อฝายเก่าทั้ง 3 แห่งทิ้ง แล้วสร้างประตูระบายน้ำแทน นายชนะชัย กล่าวยอมรับว่า ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเป็นแต่เพียงการช่วยบรรเทาความรุนแรงของน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น เพราะหากมีปริมาณน้ำมากเหมือนที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในปี 2548 อย่างไรเสียก็เกิดน้ำท่วมอยู่ดีเพียงแต่ประตูระบายน้ำที่จะมีการสร้างขึ้นจะช่วยลดความรุนแรงลงได้บ้าง
ขณะเดียวกันยืนยันว่า การรื้อฝายเก่าในแม่น้ำปิงทิ้ง จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผันน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าไปยังพื้นที่การเกษตรของกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝาย ที่ปัจจุบันใช้ประโยชน์จากฝายทั้ง 3 แห่ง เพราะประตูระบายน้ำ จะทำหน้าที่ดังกล่าวแทนฝายเก่าได้ ซึ่งโครงการนี้ได้มีการออกแบบไว้แล้วเป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง
อนึ่ง โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิง พร้อมรื้อย้ายฝายเก่า 3 แห่งของกรมชลประทาน มีมูลค่าโครงการประมาณ 500 ล้านบาท โดยการดำเนินการตามโครงการ ประกอบด้วย 1.การสร้างประตูระบายน้ำชนิดบานเหล็กโค้ง ขนาดบานระบายน้ำกว้าง 12.50 เมตร สูง 6.50 เมตร จำนวน 6 บาน พร้อมระบบควบคุมน้ำอัตโนมัติ 2.บันไดปลาโจน ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 270 เมตร 3.อาคารท่อส่งน้ำปากคลองขนาด 2 คูณ 2 เมตร จำนวน 3 แห่ง เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ฝายทั้ง 3 แห่ง และ 4.การรื้อฝายท่าศาลา(ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล
ตามรายละเอียดโครงการที่มีการนำเสนอชี้แจง ระบุว่า ประตูระบายน้ำดังกล่าวนี้จะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถใช้ประโยชน์ในการส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรของท่าศาลา(ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล จำนวน 10,000 ไร่ 5,200 ไร่ และ 8,100 ไร่ ตามลำดับด้วย