ศูนย์ข่าวเชียงใหม่– กลุ่มผู้ใช้น้ำฝายเก่าแม่น้ำปิง ยื่นหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่วอนช่วยล้มเลิกโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและรื้อฝายเก่า 3 แห่งในแม่น้ำปิงของกรมชลประทาน ชี้ ไม่สามารถป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริง แถมชอบอ้างคนในพื้นที่โครงการส่วนใหญ่เห็นด้วย ทั้งที่ไม่เคยไปสำรวจสอบถามความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ระบุกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายเก่าในแม่น้ำปิงนับสิบแห่งพร้อมผนึกกำลังต้านถึงที่สุด
วันนี้ (15 ก.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายสมบูรณ์ บุญชู รองประธานฝายพญาคำ พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำและฝายหนองผึ้ง ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและรื้อฝายเก่า 3 แห่งในแม่น้ำปิง ประกอบด้วย ฝายพญาคำ ฝายท่าวังตาล และฝายหนองผึ้ง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ โดยระบุว่าโครงการนี้ไม่ได้มุ่งและสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่อย่างแท้จริง รวมทั้งยังก่อให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายอีกด้วย
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายอีก 8 แห่ง ที่อยู่ทางตอนใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น ในอำเภอจอมทอง อำเภอฮอด เป็นต้น ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะไม่เชื่อว่าประตูระบายน้ำดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริง ในทางตรงกันข้ามกลับจะส่งผลกระทบทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายทั้งหมดไม่สามารถใช้ประโยชน์น้ำได้เหมือนเดิม ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะกับฝายท่าวังตาล ที่สนับสนุนให้มีการเดินหน้าโครงการนี้ ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้น้ำฝายอื่นๆ ไม่เห็นด้วยเพราะหวั่นจะได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ รองประธานฝายพญาคำ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มักจะมีการกล่าวอ้างเสมอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ว่า ได้มีการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่โครงการแล้วพบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วย ซึ่งไม่เป็นความจริง ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า เวลานี้โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำดังกล่าวยังไม่มีการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงอย่างเป็นกิจจะลักษณะแต่อย่างใด ตลอดจนไม่แน่ใจว่ามีการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการดังกล่าวแล้วหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และอยากเรียกร้องให้มีการยกเลิกโครงการนี้ โดยยืนยันว่า ฝายที่มีอยู่ไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ อย่างที่มีความพยายามจะทำให้คนทั่วไปรู้สึกเช่นนั้น
“ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำและฝายหนองผึ้งเท่านั้น ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มใช้น้ำฝายอื่นๆ อีก 8-9 แห่ง ที่อยู่ทางใต้ของแม่น้ำปิงลงไป ทั้งที่จอมทองและฮอด ที่เขาก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน เพราะเราไม่เชื่อมั่นว่าหากมีการสร้างประตูระบายน้ำแล้วจะสามารถจัดสรรและใช้ประโยชน์น้ำได้เหมือนเดิม ทำให้ท้องถิ่นสูญเสียภูมิปัญญาและความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรของตัวเองไป แล้วต้องพึ่งพิงประตูระบายน้ำอยู่ ที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ ทั้งนี้ พวกเรากลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมดยืนยันว่าจะเดินหน้าคัดค้านโครงการนี้ให้ถึงที่สุด” นายสมบูรณ์ กล่าว
ด้าน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรับหนังสือดังกล่าวด้วยตัวเอง กล่าวว่า จะรับข้อเสนอของทางกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายไปพิจารณา รวมทั้งจะมอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่รับผิดชอบดูแลในเรื่องนี้อยู่แล้วไปตรวจสอบข้อมูล และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
อนึ่ง สำหรับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิงพร้อมรื้อย้ายฝายเก่า 3 แห่ง นั้น เป็นโครงการของกรมชลประทาน มีมูลค่าโครงการประมาณ 500 ล้านบาท โดยการดำเนินการตามโครงการ จะประกอบด้วย 1.การสร้างประตูระบายน้ำชนิดบานเหล็กโค้ง ขนาดบานระบายน้ำกว้าง 12.50 เมตร สูง 6.50 เมตร จำนวน 6 บาน พร้อมระบบควบคุมน้ำอัตโนมัติ 2.บันไดปลาโจน ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 270 เมตร 3.อาคารท่อส่งน้ำปากคลองขนาด 2 คูณ 2 เมตร จำนวน 3 แห่ง เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่ฝายทั้ง 3 แห่ง และ 4.การรื้อฝายท่าศาลา(ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล
โดยตามรายละเอียดโครงการที่มีการนำเสนอชี้แจง ระบุว่า ประตูระบายน้ำดังกล่าวนี้จะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ในเขตเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถใช้ประโยชน์ในการส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรของท่าศาลา (ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล จำนวน 10,000 ไร่ 5,200 ไร่ และ 8,100 ไร่ ตามลำดับด้วย
วันนี้ (15 ก.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายสมบูรณ์ บุญชู รองประธานฝายพญาคำ พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำและฝายหนองผึ้ง ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและรื้อฝายเก่า 3 แห่งในแม่น้ำปิง ประกอบด้วย ฝายพญาคำ ฝายท่าวังตาล และฝายหนองผึ้ง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ โดยระบุว่าโครงการนี้ไม่ได้มุ่งและสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่อย่างแท้จริง รวมทั้งยังก่อให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายอีกด้วย
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายอีก 8 แห่ง ที่อยู่ทางตอนใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น ในอำเภอจอมทอง อำเภอฮอด เป็นต้น ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะไม่เชื่อว่าประตูระบายน้ำดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริง ในทางตรงกันข้ามกลับจะส่งผลกระทบทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายทั้งหมดไม่สามารถใช้ประโยชน์น้ำได้เหมือนเดิม ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะกับฝายท่าวังตาล ที่สนับสนุนให้มีการเดินหน้าโครงการนี้ ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้น้ำฝายอื่นๆ ไม่เห็นด้วยเพราะหวั่นจะได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ รองประธานฝายพญาคำ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มักจะมีการกล่าวอ้างเสมอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ว่า ได้มีการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่โครงการแล้วพบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วย ซึ่งไม่เป็นความจริง ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า เวลานี้โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำดังกล่าวยังไม่มีการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงอย่างเป็นกิจจะลักษณะแต่อย่างใด ตลอดจนไม่แน่ใจว่ามีการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการดังกล่าวแล้วหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และอยากเรียกร้องให้มีการยกเลิกโครงการนี้ โดยยืนยันว่า ฝายที่มีอยู่ไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ อย่างที่มีความพยายามจะทำให้คนทั่วไปรู้สึกเช่นนั้น
“ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำและฝายหนองผึ้งเท่านั้น ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มใช้น้ำฝายอื่นๆ อีก 8-9 แห่ง ที่อยู่ทางใต้ของแม่น้ำปิงลงไป ทั้งที่จอมทองและฮอด ที่เขาก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน เพราะเราไม่เชื่อมั่นว่าหากมีการสร้างประตูระบายน้ำแล้วจะสามารถจัดสรรและใช้ประโยชน์น้ำได้เหมือนเดิม ทำให้ท้องถิ่นสูญเสียภูมิปัญญาและความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรของตัวเองไป แล้วต้องพึ่งพิงประตูระบายน้ำอยู่ ที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ ทั้งนี้ พวกเรากลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมดยืนยันว่าจะเดินหน้าคัดค้านโครงการนี้ให้ถึงที่สุด” นายสมบูรณ์ กล่าว
ด้าน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรับหนังสือดังกล่าวด้วยตัวเอง กล่าวว่า จะรับข้อเสนอของทางกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายไปพิจารณา รวมทั้งจะมอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่รับผิดชอบดูแลในเรื่องนี้อยู่แล้วไปตรวจสอบข้อมูล และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
อนึ่ง สำหรับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิงพร้อมรื้อย้ายฝายเก่า 3 แห่ง นั้น เป็นโครงการของกรมชลประทาน มีมูลค่าโครงการประมาณ 500 ล้านบาท โดยการดำเนินการตามโครงการ จะประกอบด้วย 1.การสร้างประตูระบายน้ำชนิดบานเหล็กโค้ง ขนาดบานระบายน้ำกว้าง 12.50 เมตร สูง 6.50 เมตร จำนวน 6 บาน พร้อมระบบควบคุมน้ำอัตโนมัติ 2.บันไดปลาโจน ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 270 เมตร 3.อาคารท่อส่งน้ำปากคลองขนาด 2 คูณ 2 เมตร จำนวน 3 แห่ง เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่ฝายทั้ง 3 แห่ง และ 4.การรื้อฝายท่าศาลา(ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล
โดยตามรายละเอียดโครงการที่มีการนำเสนอชี้แจง ระบุว่า ประตูระบายน้ำดังกล่าวนี้จะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ในเขตเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถใช้ประโยชน์ในการส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรของท่าศาลา (ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล จำนวน 10,000 ไร่ 5,200 ไร่ และ 8,100 ไร่ ตามลำดับด้วย