xs
xsm
sm
md
lg

ปลายฝนต้นหนาวเที่ยวอุทยานฯ เขื่อนศรีนครินทร์ชมความงามน้ำตก-ถ้ำ-เกาะแก่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น
กาญจนบุรี – ปลายฝนต้นหนาวเที่ยวให้สนุกกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ชมความงามของน้ำตก น้ำพุร้อน ถ้ำและเกาะแก่ง

นายชัชวาล ศิริสมบัติ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เชิญนักท่องเที่ยวเที่ยวสนุกกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานเขื่อนศรีนครินทร์มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอไทรโยค อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วยเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก น้ำพุร้อน ถ้ำ และเกาะแก่งต่างๆ ในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ที่มีทิวทัศน์สวยงาม มีเขตติดต่อกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค อุทยานแห่งชาติเอราวัณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีเนื้อที่ประมาณ 957,500 ไร่ หรือ 1,532 ตารางกิโลเมตร

นายชัชวาล ศิริสมบัติ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เล่าถึงความเป็นมาของอุทยานเนื่องจากป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำแควใหญ่เหนือเขื่อนศรีนครินทร์ มีสภาพป่าสมบูรณ์เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีสัตว์ป่าชุกชุม และมีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น น้ำพุร้อน ถ้ำ และทะเลสาบ ทั้งเพื่อเป็นการสนองมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2523 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 71/2523 ลงวันที่ 11 มกราคม 2523 ให้นายนิสัย ฟุ้งขจร นักวิชาการป่าไม้ 5 ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณทำการสำรวจพื้นที่ ประกอบกับในคราวประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี ครั้งที่ 3/2522 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2522 นายผ่อง เล่งอี้ ผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติ ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า กรมป่าไม้ มีโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติบริเวณน้ำตกห้วยแม่ขมิ้น อำเภอศรีสวัสดิ์

ดังนั้น จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้แต่งตั้งคณะสำรวจของจังหวัดทำการสำรวจด้วยเช่นกัน ซึ่งพบว่าพื้นที่ป่ามีสภาพภูมิประเทศและทิวทัศน์สวยงาม มีลักษณะทางธรรมชาติที่เด่นหลายแห่งเหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

นายชัชวาล กล่าวต่อว่า กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุม ครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรดำเนินการกำหนดพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาพระฤาษีและป่าเขาบ่อแร่ ในท้องที่ตำบลชะแล ตำบลท่าขนุน ตำบลหินดาด ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ ตำบลเขาโจด ตำบลนาสวน ตำบลด่านแม่แฉลบ ตำบลหนองเป็ด ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ และตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 210 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 38 ของประเทศ

ด้านภูมิประเทศ พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ส่วนหนึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์กั้นขวางแม่น้ำแม่กลอง (แควใหญ่) โดยมีแม่น้ำ ลำห้วย ลำธารที่สำคัญหลายสายไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เช่น ห้วยแม่ขมิ้น ห้วยขาแข้ง ห้วยแม่วง ห้วยเกรียงไกร และห้วยแม่พลู เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีลำห้วยลำธารอีกหลายสายที่ไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อยบริเวณเขตอำเภอไทรโยค เช่น ห้วยลิ่นถิ่น เป็นต้น สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูนและหินตะกอนเป็นส่วนใหญ่ ระดับความสูง สูงสุดประมาณ 1,100 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 400 เมตร พื้นที่น้ำในทะเลสาบเหนือเขื่อนศรีนครินทร์มีระดับความสูงสุดประมาณ 180 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ส่วนภูมิอากาศสภาพพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์เป็นพื้นที่เงาฝน (rain shadow) ทำให้มีฝนตกน้อย อากาศร้อนจัดในฤดูร้อน และหนาวจัดในฤดูหนาว โดยมีอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 44-45 องศาเซลเซียสในเดือนเมษายน อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคมประมาณ 8-9 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 27 องศาเซลเซียส ช่วงฤดูฝนเริ่มตกจากกลางเดือนเมษายน และสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนตุลาคม โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 1,600 มิลลิเมตร

ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานเขื่อนศรีนครินทร์ ได้กล่าวเกี่ยวกับพืชพรรณและสัตว์ป่าว่า สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นปกคลุมเป็นส่วนใหญ่ของพื้นที่ในบริเวณค่อนข้างราบถึงเนินเขา ในบางพื้นที่จะพบไม้ไผ่ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มหนาแน่นมาก มีไม้ยืนต้นอื่นขึ้นแทรกอยู่บ้างเพียงประปราย พบมากในบริเวณตอนกลางติดกับชายฝั่งอ่างเก็บน้ำ

ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ แดง มะค่าโมง ประดู่ รกฟ้า มะกอกป่า กระโดน ตะแบก ไผ่บง ไผ่รวก และไผ่ซาง มีสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในสังคมป่าชนิดนี้ได้แก่ ลิงกัง พญากระรอกดำ เม่นใหญ่แผงคอสั้น หมาจิ้งจอก หมาไน กระทิง ช้างป่า เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ไก่ป่า นกเขาเปล้าธรรมดา นกกระเต็นแดง นกโพระดกธรรมดา นกแอ่นฟ้าหงอน นกกระรางสร้อยคอใหญ่ นกจับแมลงคอสีฟ้า เต่าเหลือง ตะกวด จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ งูเหลือม งูหมอก งูปี่แก้วลายหัวใจ และกบหนอง เป็นต้น

ส่วนบริเวณยอดเขาหินปูนที่เป็นสังคมป่าชนิดนี้จะพบเลียงผาอาศัยอยู่ ป่าเต็งรัง ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง แดง ตะคร้อ ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวก เป้งดอย ปรงป่า และไผ่เพ็ก สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณสังคมพืชป่าเต็งรัง ได้แก่ กระรอกปลายหางดำ กระจงเล็ก กวางป่า นกกระรางหัวขวาน นกตีทอง นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกแซงแซวหางปลา ตุ๊กแกบ้าน จิ้งจกหางหนาม จิ้งเหลนหลากหลาย งูกะปะ เป็นต้น ป่าดิบแล้ง พบขึ้นประปรายอยู่ทั่วเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ มักจะพบในบริเวณที่อยู่ทางด้านรับลมที่พัดพาฝนมาปะทะภูเขา หรืออยู่ริมสองฝั่งของลำธาร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียนหิน มะเกิ้ม ยมหิน กระเบากลัก ยมหอม สมพง งิ้วป่า พลอง ขะเจ๊าะ กระโดน และเปล้า เป็นต้น

นายชัชวาล กล่าวอีกว่า ในส่วนของสัตว์ป่าที่พบในพื้นที่อุทยานฯ ได้แก่ ลิงลม ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว พญากระรอกบินหูแดง หมาไม้ อีเห็นธรรมดา เสือโคร่ง ไก่ฟ้าหลังเทา นกเขาเขียว นกตะขาบดง นกแก๊ก นกกก นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ เต่าหก เหี้ย งูลายสาบคอแดง งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว งูหลาม และเขียดตะปาด เป็นต้น บริเวณอ่างเก็บน้ำและลำห้วยต่างๆ สัตว์ป่าและสัตว์น้ำที่พบอาศัยอยู่ได้แก่ คางคกแคระ เขียดอ่อง กบทูด กบชะง่อนหินเมืองเหนือ ปาดลายหินเมืองเหนือ อึ่งแม่หนาว ปลากราย ปลากระสูบขีด ปลากดเหลือง ปลาชะโด ปลาเวียน ปลาเลียหิน ปลากระทิงดำ เป็นต้น


สำหรับในบริเวณพื้นที่ที่ถูกราษฎรบุกรุกเข้าไปเพื่อปลูกพืชเกษตรภายหลังได้อพยพออกไปแล้ว และบริเวณริมอ่างเก็บน้ำที่ถูกตัดต้นไม้ออกหมด สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ได้แก่ เก้ง กระต่ายป่า อ้น นกยางกรอกพันธุ์จีน นกยางโทนใหญ่ นกกระแตแต้แว้ด นกกระปูดใหญ่ นกอีวาบตั๊กแตน นกตะขาบทุ่ง นกปรอดสวน กิ้งก่าแก้ว กิ้งก่าหัวแดง แย้ อึ่งอ่างบ้าน และอึ่งขาดำ เป็นต้น


ธรรมชาติบริเวณน้ำตกห้วยแม่ขมิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น