เลย - ผู้ว่าฯ เลยปรามผู้ค้าแร่ พร้อมแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำเหมืองแร่เหล็ก และแร่แมงกานีสโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ในพื้นที่จังหวัดเลย
นายไพฑูรย์ สิมะโชคดี อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการยื่นคำขออนุญาตสำรวจแร่และคำขอประทานบัตรเป็นจำนวนมาก และมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง ใช้ช่องว่างทางกฎหมายหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการเพื่อขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ ด้วยการยื่นคำขออนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ตามมาตรา 105 (10) แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ก่อให้เกิดปัญหาในด้านการกำกับดูแล และเกิดความไม่ยุติธรรมแก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง
ด้าน นายมานิตย์ มกรพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวถึงกรณีปัญหาเรื่องแร่ ในพื้นที่จังหวัดเลยว่า เนื่องจากปัจจุบันความต้องการและราคาแร่โลหะในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะแร่เหล็กและแร่แมงกานีส ทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง มายื่นคำขออนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ตามมาตรา 105 (10) แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510
โดยอ้างว่าแร่ที่ยื่นขออนุญาตนั้นเป็นแร่ที่ได้มาจากการปรับสภาพพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม หรือการขุดสระน้ำเพื่อการกสิกรรม หรือเพื่อการบริโภค เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ที่จะออกหนังสืออนุญาตให้มีแร่ไว้ในครอบครองเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย สำหรับผู้ที่มิได้มีเจตนาให้ได้มาซึ่งแร่ตั้งแต่ต้นเท่านั้น
โดยในระยะหลังนี้มีผู้ยื่นขออนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายรายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนก่อให้เกิดปัญหาในด้านการกำกับดูแล และเกิดความไม่ยุติธรรมแก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง การอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการขออนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายโดยเฉพาะแร่เหล็ก และแร่แมงกานีสไว้ว่า จะไม่อนุญาตให้ครอบครองแร่เป็นกรณีพิเศษ เฉพาะราย ตามมาตรา 105 (10) แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ทุกราย
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการทุกรายและการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ได้กำหนดแนวทางในการตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการสำหรับแร่เหล็กและแร่แมงกานีสไว้เป็นการเฉพาะ โดยจะทำการตรวจสอบลักษณะธรณีวิทยาความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ และจะทำการรังวัดจัดทำแผนที่ฐานข้อมูลสภาพพื้นที่การตรวจสอบปริมาณการผลิตแร่ ปริมาณแร่คงเหลือตามบัญชีแร่คงเหลือในเขตประทานบัตร และใบอนุญาตต่างๆ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510
หากพบว่ามีแร่ขาดหายจากบัญชีหรือไม่สอดคล้องกันจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำเหมืองแร่อย่างเป็นรูปธรรม กรมอุคสาหรรมพื้นฐานและการ เหมืองแร่ จึงขอความร่วมมือมาผู้ประการเหมืองแร่ และกำชับเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องนั้นได้ดูแล อย่างทั่วถึง ตลอดไปถึงหากมีผู้ประกอบการธุรกิจแร่ ทำผิดกฎหมาย ทางจังหวัดเลยและทางอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป