xs
xsm
sm
md
lg

ท่าแหลมฉบังทำกำไรปี 51 ถึง 2.7 พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การพัฒนาโครงการต่างๆ ในท่าเรือแหลมฉบังยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในภูมิภาค
ศูนย์ข่าวศรีราชา -ท่าเรือแหลมฉบัง เร่งโครงการรองรับยุทธศาสตร์ชาติ หลังท่าเทียบเรือชุด A B และC เปิดให้บริการจนครบ ส่วนท่าเทียบเรือชุด D พร้อมเปิดบริการปลายปี 54 คาดเมื่อเปิดท่าเรือครบทุกแห่ง ทลฉ.จะรองรับตู้สินค้าได้มากถึง 10.8 ล้านทีอียูต่อปี ขณะที่ผลประกอบการปี 2551 ยังสร้างผลกำไรได้มากถึง 2.793 พันล้านบาท สูงกว่าปีก่อนกว่า 700 ล้าน ล่าสุดเดินหน้าหาบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เพื่อออกแบบก่อสร้างโครงการเฟส 3 ให้ทันเปิดใช้บริการในปี 2549

ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ได้จัดทำเอกสารเพื่อเผยแพร่ภาพรวมกิจการของท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงผลประกอบการ ผลการดำเนินงานด้านอื่นๆ และการดำเนินโครงการเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติในปีงบประมาณ 2551 โดยพบว่าในปี 2551 ท่าเรือแหลมฉบัง มีเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เข้าเทียบท่ามากกว่า 6 พันลำ และในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2551 มีตู้สินค้าขนถ่ายมากถึง 5.2 ล้านทีอียู สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีตู้สินค้าขนถ่ายเพียง 4.6 ล้านทีอียู และมีเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ เข้าเทียบท่าเพียง 5,744 ลำ โดยมีผลกำไรในการดำเนินธุรกิจเติบโตถึง 37.30% หรือคิดเป็นผลกำไรที่ทำได้มากถึง 2,793 ล้านบาท สูงกว่าการทำกำไรในช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 700 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินโครงการเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติจะเน้นหนัก ที่การเดินหน้าพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อให้การออกแบบด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จภายในปีงบ ประมาณ 2553 ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาออกแบบประมาณ 1 ปี และใช้เวลาในการก่อสร้างอีกประมาณ 4 ปี โดยจะสามารถเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือท่าแรกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3ได้ภายในปีงบประมาณ 2559 และขณะนี้ท่าเรือแหลมฉบัง ได้เร่งดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆ เป็นไปตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้คาดว่าขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเทียบเรือ ที่อยู่ในโครงการระยะที่ 3 จะมีไม่น้อยกว่า 7.2 ล้านทีอียูต่อปีและจะสามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี โดยจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อเป็นปัจจัยเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน และยังผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือหลัก (Main Port) ในการรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและเป็นประตูการค้าของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 เนื่องมาจากการเปิดให้บริการท่าเทียบเรือชุด A B และC ที่อยู่ในโครงการระยะที่ 1 และ 2 ได้เปิดให้บริการจนครบหมดแล้ว และท่าเทียบชุด D ก็พร้อมที่จะเปิดให้บริการภายในเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี จะมีขีดความสามารถรวมในการรองรับตู้สินค้าได้มากสุดถึง 10.8 ล้านทีอียูต่อปี

นอกจากนั้นท่าเรือแหลมฉบัง ยังจะเร่งพัฒนาระบบการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Rail Transfer Terminal) เพื่อให้รองรับปริมาณตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้บริการมากขึ้นภายหลังจากที่ระบบรถไฟรางคู่แล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในปี 2554 โดยจะพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ภายในท่าเรือฯให้สามารถรองรับการให้บริการได้ถึงระดับ 2 ล้านทีอียูต่อปีอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น