xs
xsm
sm
md
lg

รมช.คมนาคม จี้ ทลฉ.สอบการรุกพื้นที่ท่าเรือหวั่นเอื้อประโยชน์กลุ่มนายทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวราวุธ ศิลปอาชา นำคณะตรวจเยี่ยมการทำงานของท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
ศูนย์ข่าวศรีราชา - รมช.คมนาคม นำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมจี้ผู้บริหารตรวจสอบการใช้พื้นที่ด้านหลังท่าเรือฯ หวั่นนายทุนฉวยโอกาสฮุบที่ดินโดยอ้างความเป็นกลุ่มผู้อาศัยเดิมจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อการท่าเรือฯ นอกจากนั้น ยังเร่งรัดการพัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่เพื่อใช้ในการขนถ่ายสินค้าระบบรางให้ยกระดับปริมาณขนถ่ายสินค้าทางรางจาก 4 แสนทีอียูเป็น 2 ล้านทีอียูต่อปีให้ได้โดยเร็ว

วันนี้ (14 พ.ย.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำคณะเข้าเยี่ยมชมกิจการท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยมี นายเฉลิมเกียรติ์ สลักคำ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ ซึ่งผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับภาพรวมกิจการของท่าเรือแหลมฉบัง ผลประกอบการ ผลการดำเนินงานด้านอื่นๆ การดำเนินโครงการรองรับยุทธศาสตร์ชาติรวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน

โดยในส่วนการดำเนินงานพบว่า ในปี 2550 ท่าเรือแหลมฉบัง มีตู้สินค้าผ่านท่าทั้งสิ้น 4.6 ล้านทีอียู ขณะที่ในปี 2551 ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา มีตู้สินค้าขนถ่ายผ่านท่ามากถึง 5.2 ล้านทีอียู

สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน พบว่า เป็นเรื่องของการผลักดันให้เรือขนถ่ายสินค้าเข้าเทียบท่ายังท่าเทียบเรือที่มีศักยภาพ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าบางท่าเรือเอกชนมีเรือสินค้าเข้าขนถ่ายจนล้น ขณะที่บางท่าเทียบเรือกลับไม่มีเรือสินค้าเข้าเทียบท่า โดยที่ผ่านมากลุ่มฮัทชิสัน พอร์ต โฮลดิ้ง จำกัด จากฮ่องกง ซึ่งร่วมดำเนินการกับ บริษัท ฮัทชิสัน ประเทศไทย และบริษัท Lexton (Thailand) ผู้บริหารท่าเทียบ เรือ A3 ซึ่งอยู่ในโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบังเฟสแรกและท่าเทียบเรือ C1 C2 D1 D2 และ D3 ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังท่าเรือแหลมฉบัง โดยกล่าวหาว่าท่าเรือแหลมฉบังละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการผลักดันให้เรือสินค้าเข้าขนถ่ายสินค้า จนทำให้บางท่าเทียบเรือที่อยู่ในการดูแลไม่มีเรือสินค้าเข้าเทียบท่าจนส่งผลกระทบต่อยอดรายได้ดำเนินการ

ส่วนการพัฒนาพื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นย่านขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟนั้น ท่าเรือแหลมฉบังได้กำหนดใช้พื้นที่ในโซนที่ 4 เพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่ขยายขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้าทางรางจากเดิมที่เคยมีเฉลี่ย 4 แสนทีอียูต่อปีให้เป็น 2 ล้านทีอียูต่อปี โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2544

ทั้งนี้ นายวราวุธ ได้กล่าวแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าว ว่า เมื่อพัฒนาแล้วเสร็จหากท่าเรือแหลมฉบังบริหารงานและจัดเก็บรายได้ไม่ดีก็อาจจะก่อให้เกิดการขาดทุนจนส่งผลกระทบต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ เนื่องจากโครงการนี้ต้องใช้งบประมาณกว่าพันล้านบาท ที่สำคัญ ยังแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่ด้านหลังท่าเรือฯ ว่าผู้บุกรุกอาจไม่ใช่กลุ่มชาวบ้านที่ทำประมงมาตั้งแต่อดีตแต่อาจเป็นกลุ่มนายทุนที่เข้ามาหาผลประโยชน์ในพื้นที่แห่งนี้ จึงขอให้ท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด
 หน่วยงานเกี่ยวข้องกำลังบรรยายสรุปถึงผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น