xs
xsm
sm
md
lg

“มรภ.เชียงราย”เดินหน้าตั้งโรงงานสมุนไพรแนะดึงตปท.ร่วมทุน-สกัดขบวนการนอกรีต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ยิ่งยง เทาประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.)
เชียงราย – มหาวิทยาลัยราชภัฎเมืองพ่อขุนฯ เตรียมจัดงบตั้งโรงผลิตสมุนไพร รองรับการเปิดหลักสูตรการแพทย์แผนไทย – จีน คาดลงเสาเข็มได้ในปี 52 ดึงสมุนไพรพื้นบ้าน 8 จังหวัดภาคเหนือ – ชาวเขา 5 ชนเผ่า และกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงป้อนโรงงาน พร้อมเสนอแนวทางพัฒนาดึงทุนต่างชาติเข้าร่วมภายใต้ข้อตกลงเฉพาะเหมือนจีน ทำอยู่ แก้ปัญหาขบวนการนอกกฎหมาย ชี้กรณี “เปล้าน้อย” ทุนญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรได้แค่ “วิธีการ” สุดท้ายต้องลงทุนพัฒนาในไทย

ดร.ยิ่งยง เทาประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) เปิดเผยว่า วิทยาลัยได้วิจัยเรื่องพืชสมนุไพรใน 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยาและลำพูน พบว่าสมุนไพรประเภทที่เป็นพืชถูกชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องจำนวนกว่า 450 ชนิด และชนิดที่ถูกนำมาใช้ไม่บ่อยครั้งจำนวนประมาณ 1,200 ชนิด

นอกจากนี้วิทยาลัยยังได้ศึกษาวิจัยภูมิปัญญาของชนเผ่าต่างๆ ซึ่งก็พบว่ามีการนำสมุนไพรมาใช้อยู่อีกกว่า 300 ชุด โดยบางชนิดมีการนำมาใช้ประโยชน์ซ้ำๆ กับสมุนไพรอื่นๆ ดังนั้นเมื่อรวบรวมและเรียบเรียงแล้วพบว่ามีอยู่ด้วยกันทั้งหมดจำนวนประมาณ 1,250 ชนิด ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ภาคเหนือ และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่รู้จักนำพืชที่ปลูกเอง – อยู่ตามป่าเขา มาใช้ประโยชน์เพื่อการรักษาโรคจนสืบทอดมาถึงคนยุคปัจจุบัน

ดร.ยิ่งยง กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาวิทยาลัยได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีสาขาการแพทย์แผนไทยวิชาเภสัชกรรมไทย เวชกรรมไทย การนวดไทย และผดุงครรภ์ไทย ในปี 2553 ยังจะเปิดหลักสูตรการแพทย์แผนจีน รวมทั้งในอนาคตจำเป็นต้องมีการสร้างโรงพยาบาล เพื่อใช้สำหรับการเรียนของนักศึกษาและบริการประชาชน

ดังนั้น วิทยาลัยจึงได้ดำเนินการเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตสมุนไพร โดยเป็นโรงงานขนาดกลางและย่อมมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อใช้รองรับศึกษาวิจัย การเรียนการสอนและการบริการประชาชนดังกล่าว โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2552 และใช้เวลาไม่นานนักเพราะในปัจจุบันวิทยาลัยก็มีห้องแล็ปสำหรับผลิตยาสมุนไพรอยู่แล้ว 35 ตำรับ และนำตัวอย่างพืชสมุนไพรทั้ง 1,250 ชนิด มาปลูกเอาไว้บริเวณวิทยาลัย

ตามแผนงานโรงงานจะรับสมุนไพรจากเครือข่ายชนเผ่า 5 เผ่า หมอพื้นบ้าน 8 จังหวัด และกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จากนั้นนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรสำเร็จรูป เช่น โรคกระเพาะอาหาร ยารักษาริดสีดวงทวาร ยารักษา ยาระบาย แก้ปวดเมื่อย สมุนไพรบำรุงผิว เป็นต้น ซึ่งสมุนไพรจากโรงงานจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรสำเร็จรูปที่มีคุณภาพมาตรฐานมากกว่า

สำหรับพืชสมุนไพรที่มีอยู่อย่างมากมาย ทั้งตามธรรมชาติและปลูกทั่วไปนั้น เขาเห็นว่าคนไทยควรร่วมกันอนุรักษ์เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับอนาคตต่อไป เพราะโลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงตัวยาหลายชนิด โดยเฉพาะในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้การรับรองในบัญชียาหลักแล้วหลายตัวจึงสามารถใช้ในโรงพยาบาลทั่ว

ขณะเดียวกันในอนาคตบุคลากรด้านการแพทย์ทางเลือกและสมุนไพร จะสามารถทดแทนยาที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะโรคที่ต้องใช้เวลาในการดูแลรักษา เช่น อัมพฤก อัมพาต ฯลฯ

อย่างไรก็ตามแนวทางการอนุรักษ์นั้น เห็นว่า ควรจะให้กลุ่มทุนจากต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าเข้ามาร่วมลงทุน ตั้งเป็นโรงงานแปรรูป สกัด หรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร เหมือนที่วิทยาลัยกำลังดำเนินการเพื่อนำร่อง โดยอยู่ภายใต้ข้อตกลงที่จะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย ซึ่งกรณีนี้มีการปฏิบัติอย่างคึกคักในประเทศจีน จึงไม่ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าต่างชาติจะเข้ามาจดสิทธิบัตรครอบครองพืชสมุนไพรชนิดนั้นๆ เนื่องจากแท้ที่จริงการจดสิทธิบัตรไม่สามารถทำกับพืชชนิดนั้นๆ ได้ แต่เป็นการจดสิทธิบัตรเพียงวิธีการหรือกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งยาสำเร็จรูปเท่านั้น

“กรณีเปล้าน้อยที่ผ่านมาก็เช่นกันคิดว่าคนไทยยังเข้าใจผิดกันมาก เพราะกลุ่มทุนญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรเฉพาะวิธีการ ปัจจุบันก็ได้เข้ามาตั้งโรงงานที่ จ.ราชบุรี ขณะที่พืชต่างๆ ก็เป็นของท้องถิ่นไทยเช่นเดิม”

ดร.ยิ่งยง กล่าวอีกว่า ส่วนวิธีการสกัดไม่ให้มีการละเมิดหรือคุกคามต่อพืชสมุนไพรผมคิดว่าน่าจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ด้วย เพราะถ้าห้ามประชาชนไม่ให้ใช้ก็จะเหลือแต่ป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ดูแลไม่ทั่วถึง จนเกิดขบวนการใหญ่ที่ลักลอบเข้าไปขุดหาในป่าครั้งละมากๆ เช่น การห้ามไม่ให้มีพืชกวาวเครือเกิน 15 กิโลกรัม เป็นต้น ทำให้มีกลุ่มคนลักลอบกันมาก

ทั้งนี้ หากยกเลิกข้อห้ามเหล่านี้และให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ก็จะเกิดการร่วมกันอนุรักษ์พืชสมุนไพรในท้องถิ่นของตัวเองเอาไว้ ส่วนเจ้าหน้าที่ควรไปเข้มงวดที่ด่านระหว่างประเทศที่อาจมีการลักลอบนำออกไปนอกประเทศ เพราะพืชสมุนไพรในประเทศไทยมีราคาล่อใจ เช่น สัตตะฤษีเก็บจากป่าในประเทศไทยกิโลกรัมละเพียง 100 บาท แต่ส่งไปขายที่จีนตอนใต้ผ่านทางเรือในแม่น้ำโขงได้กิโลกรัมละกว่า 600 บาทเป็นต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น