ส.อ.ท.เชื่อ เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำ ไม่กระทบการส่งออกไทย มั่นใจปรับ ครม.เศรษฐกิจ ทำให้ความเชื่อมั่นดีขึ้น ปธ.หอการค้าฯ ผวาปัญหาการเมือง ปธ.เจเทปปา ยอมรับศก.ญีปุ่นหดตัวเหลือ 0% แต่มองพื้นฐานไทยยังแข็งแกร่ง "ฟิทช์" หั่นเครดิต "โตโยต้า-ฮอนด้า" สะท้อนทิศทางบริษัทที่ทำกำไรที่ดีที่สุดของโลก
วันนี้ ( 17 พ.ย.) นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินการภายใต้กรอบข้อตกลงทางการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ( JTEPA ) ยังมีอุปสรรคในเรื่องของการส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากประเทศไทยจึงต้องทำความเข้าใจร่วมกันให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายประมนต์ ยอมรับว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่เชื่อว่านักลงทุนญี่ปุ่นจะเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้รัฐบาลก็ต้องมีการแสดงความชัดเจน เพื่อทำให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายอุอิชิโร นิวา ประธานคณะกรรมการความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ( JTEPA ) กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้เชื่อว่าจะขยายตัวที่ 0% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาสถาบันการเงินโลก แต่มองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาด้านสถาบันการเงินยังคงมีความเข้มแข็ง ซึ่งญี่ปุ่นจะเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่อไป เพื่อจะได้ตัดสินใจในการลงทุนในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง
ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) ปัญหาเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นที่ถดถอยนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นอุตสาหกรรมอาหารและสิ่งทอ ซึ่งยังขยายตัวได้ดีตามความต้องการบริโภคของประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศจีนมีปัญหาอาหารปนเปื้อนและได้รับสิทธิประโยชน์จากภาษีภายใต้ข้อตกลง JTEPA
ดังนั้น เชื่อว่าการส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นปีนี้จะยังขยายตัวอยู่ที่ 21% ส่วนการลงทุนนั้นนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงมองว่า ไทยและอาเซียนเป็นประเทศที่น่าลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กที่ญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ส่วนกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น นายสันติ เชื่อว่าทีมเศรษฐกิจของนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และการปรับในครั้งนี้มองว่าจะเป็นการปรับให้ดี ขณะที่ต่างประเทศก็จับตามองสถานการณ์ทางการเมืองไทยอยู่
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงในเรื่องของแรงงาน และปัญหาสภาพคล่องในปีหน้าที่อาจมีมากขึ้น จะต้องมีการหารือกันในที่ประชุม ครม.ด้านเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เช้าวันนี้ โดยปรับตัวลดลงถึง 0.4% ในเดือน ก.ค.-ก.ย. เนื่องจากบริษัทต่างๆ ลดการใช้จ่ายลงอย่างมาก การเติบโตที่ย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้นั้นชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค เพราะเศรษฐกิจขยายตัวลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส
โดยจีดีพีในเดือน เม.ย.- มิ.ย.ลดลง 3.7% ขณะที่ผลสำรวจของสำนักข่าวเกียวโด ที่สอบถามความเห็นกลุ่มเศรษฐกรต่างคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นทั้งปีจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.1%
ล่าสุด มีรายงานว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ฟิทช์ เรทติ้งส์ อาจปรับลดอันดับเครดติตบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ลงจากระดับปัจจุบันที่ AAA ซึ่งจะเป็นการลดอันดับเครดิตโตโยต้าเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ขณะที่โตโยต้ากำลังเผชิญกับความท้าทายที่หนักหนาสาหัสที่สุดอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน
ฟิทช์ระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ฟิทช์ให้อันดับเครดิตพินิจแก่โตโยต้า โดยให้แนวโน้มเป็นลบ และฟิทช์จะทบทวนอันดับเครดิตของโตโยต้าในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า นอกจากนี้ ฟิทช์ยังปรับลดแนวโน้มเครดิตของบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ ลงสู่ระดับ "stable'' จากเดิมที่ระดับ "positive''
ฃอย่างไรก็ตาม นายยาซูฮิโร่ มัทสึโมโตะ นักวิเคราะห์ด้านการจัดอันดับเครดิตของ Shinsei Securities Co ในกรุงโตเกียว กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า ไม่มีเหตุผลที่โตโยต้าจะถูกลดอันดับเครดิต เพราะโตโยต้าเป็นบริษัทรถยนต์ที่สามารถทำกำไรได้ดีที่สุดในโลก และมีแนวโน้มที่จะฟันฝ่าสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้
ทั้งนี้ หากฟิทช์ลดอันดับเครดิตโตโยต้า ก็จะเป็นครั้งแรกที่โตโยต้าถูกปรับลดอันดับเครดิต นับตั้งแต่ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ลดอันดับเครดิตโตโยต้าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก่อนที่มูดี้ส์จะปรับเพิ่มอันดับเครดิตโตโยต้าขึ้นสู่ระดับ Aaa ตามเดิมในปีพ.ศ.2546
อย่างไรก็ตาม นายฮิเดอากิ ฮอมมะ โฆษกของโตโยต้า ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่โตโยต้าจะถูกลดอันดับเครดิต