เอเอฟพี – เอไอจี บริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ต้องแก้ไขสถานการณ์ขาดสภาพคล่องอย่างเร่งด่วนหลังโดนลดระดับความน่าเชื่อถือ นักเศรษฐศาสตร์ชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ยุคถดถอยจริง ชี้ปัญหาตามมาอีกบาน ด้านธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดเงินกว่า 160,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อค้ำจุนระบบการเงินเอาไว้ คนวงในชี้เอไอจีต้องหาเงินมาโปะให้ได้ภายในวันนี้ ไม่งั้นล้มแน่ นักลงทุนผิดหวังเฟดไม่ลดดอกเบี้ย
หลังจากเมื่อวันจันทร์ (15) ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส จำกัด ประกาศขอเข้าฟื้นฟูกิจการภายใต้มาตรา 11 ของกฎหมายการเงินสหรัฐอเมริกา สถานการณ์ของบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป หรือเอไอจี กลุ่มบริษัทประกันภัยและผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำของโลกสัญชาติอเมริกัน ก็อยู่ในภาวะย่ำแย่ไม่แพ้กัน แม้จะได้รับการอนุมัติให้กู้ยืมเงินจำนวน 20,000 ล้านดอลลาร์ได้ และทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็ได้ขอให้ธนาคาร 2 แห่งเข้ามาปล่อยเงินเพิ่มสภาพคล่องให้ด้วยเงินจำนวน 70,000-75,000 ล้านดอลลาร์ก็ตามที
วันจันทร์ที่ผ่านมาตลาด นักลงทุน และผู้ออมเงินทั่วโลกต่างจับตามองอย่างใจจดใจจ่อว่า เอไอจีจะเป็นหายนะของตลาดวอลล์สตรีทหรือไม่ หลังจากที่ธนาคารเพื่อการลงทุนยักษ์ใหญ่อีกแห่งอย่าง เมอร์ริล ลินช์ ได้พ้นจากวิกฤตจากการโอบอุ้มของแบงก์ออฟอเมริกาไปแล้ว
ด้าน เจฟฟรีย์ แซคส์ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้กล่าวเตือนว่า “จะมีปัญหาตามมาอีกเยอะ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ยุคถดถอยแล้วจริงๆ...ต่อไปจะมีความยุ่งเหยิงทางการเงินตามมาอีก”
ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันแล้ว หลังจากที่มียอมรับกันแล้วว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งนี้เป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) แม้ว่าวันอังคารดัชนีตลาดหุ้นในยุโรปจะปรับตัวลดลงน้อยกว่าวันจันทร์ ทว่าดัชนีตลาดหุ้นในเอเชียต่างตกต่ำไปตามๆ กัน ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารก็ปรับตัวลดลงอย่างมาก
สำหรับปัญหาของเอไอจีนั้น อยู่ในการจับตามองของธนาคารกลางยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ได้อัดฉีดเงินเพิ่มเข้าไปกว่า 160,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการกู้ยืมระหว่างกัน ด้านกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ก็ออกมายืนยันเรื่องการยื่นมือเข้าแก้ไขสถานการณ์ว่า จะไม่มีการใช้เงินภาษีของประชาชนเข้ามาอุ้มเอไอจีแน่นอนเช่นเดียวกับที่ทำกับเลห์แมน บราเธอร์ส
ขณะที่หนังสือพิมพ์ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ได้อ้างอิงแหล่งข่าวระบุว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเฟดได้ขอให้กลุ่มโกลด์แมน แซคส์ และ เจ.พี.มอร์แกน เชส เข้าช่วยเหลือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยให้ปล่อยเงินกู้จำนวน 70,000-75,000 ล้านดอลลาร์ให้กับเอไอจี
ส่วนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทางรัฐนิวยอร์กก็ได้ประกาศช่วยเหลือเอไอจีว่า บริษัทสามารถกู้ยืมเงินจำนวน 20,000 ล้านดอลลาร์ได้ ด้วยการนำทรัพย์สินของบริษัทมาค้ำประกัน ทว่า การยื่นมือเข้าช่วยเหลือของหลายภาคส่วนก็ไม่ได้ช่วยให้ฉุดให้สถานการณ์ดีขึ้นเท่าใดนัก เมื่อในช่วงเย็นของวันจันทร์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ มูดีส์ และฟิทช์ เรทติ้ง ลดระดับความน่าเชื่อถือของเอไอจีลง
โดยเหตุผลที่สถาบันจัดอันดับทั้งสามลดความน่าเชื่อถือของเอไอจีนั้น ตรงกันคือ วิกฤตปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ที่เอไอจีได้รับผลกระทบมาก และการดิ่งลงเหวของราคาหุ้นของบริษัท
สำหรับผลกระทบที่จะตามมาจากปัญหาของบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ก็คือ ปัญหาจะลามไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ เอไอจีจะต้องระดมเงินทุนเพื่อทำให้บริษัทพ้นจากภาวะล้มละลาย แม้ว่าบริษัทจะพยายามหาเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขสถานการณ์แล้วก็ตาม โดยวอลล์สตรีท เจอร์นัล ระบุเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า คนวงในชี้ว่าเอไอจีอาจจะต้องล้มละลายหากระดมเงินทุนไม่ได้ภายในวันพุธ (17)
“สถานการณ์วิกฤตเป็นอย่างยิ่ง” แหล่งข่าวใกล้ชิดกับเอไอจีที่ไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวกับวอลล์สตรีท เจอร์นัล
วันจันทร์ที่ผ่านมาราคาหุ้นของเอไอจีดิ่งลงกว่าร้อยละ 61 เหลือเพียง 4.76 ดอลลาร์ โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาราคาหุ้นตกลงกว่าร้อยละ 93
“การลดความน่าเชื่อถือของฟิทช์สะท้อนให้เห็นว่า ความยืดหยุ่นทางด้านการเงินของเอไอจี และความสามารถในการระดมเงินสดจากบริษัทในเครือนั้นอยู่ในระดับที่จำกัดมาก” ฟิทช์กล่าวในแถลงการณ์ โดย เอสแอนด์พี ได้ประกาศลดเครดิตเรตติ้งระยะยาวลงจาก “AA-” เป็น “A-” ส่วนเครดิตในระยะสั้นก็ปรับลดลงจาก “A-1+” เหลือ “A-2” ส่วนมูดี้ส์ก็ปรับลดเครดิตเรดติ้งของเอไอจีลงจาก “AA3” เป็น “A2” ขณะที่ฟิทช์นั้นปรับลดจาก “AA” เหลือ “A”
มากกว่านั้น เอไอจียังถือเป็นผู้เล่นคนสำคัญในตลาดอนุพันธ์อันซับซ้อนที่เรียกว่า สัญญาสวอปความเสี่ยงผิดนัดชำระสินเชื่อ (Credit Default Swaps หรือ CDS) ทั้งนี้เครื่องมือทางการเงินเหล่านี้นี่เองที่เชื่อมโยงไปถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวใจของวิกฤตในภาคการเงินและการธนาคารในปัจจุบัน
ปัจจุบันเอไอจีมีลูกค้าอยู่ทั่วทุกมุมโลก จำนวนกว่า 74 ล้านคน โดยส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวอเมริกันที่จะไร้หลักประกันใดๆ ทั้งสิ้น หากบริษัทล้มละลายไป นอกจากนี้จากสถิติในช่วงปลายปี 2550 เอไอจียังมีพนักงานในสังกัดอีกกว่า 116,000 คนใน 130 ประเทศทั่วโลก
จากรายงานข่าวของสื่ออเมริกัน ระบุว่า สินทรัพย์ที่ทางเอไอจีหวังว่าจะขายได้นั้นก็คือ ธุรกิจการปล่อยเช่าเครื่องบินและธุรกิจสินเชื่อ ที่มีเครื่องบินรวมทั้งสิ้นกว่า 1,000 ลำ
ขณะที่สถานการณ์ด้านดัชนีราคาหุ้นของเอไอจีในช่วงบ่ายของวันอังคารตามเวลาในสหรัฐฯ ราคาหุ้นของเอไอจีในตลาดหุ้นนิวยอร์ก มีความผันผวนสูง โดยปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 37 โดยไปยืนอยู่ที่ราว 3.00 ดอลลาร์ หลังจากที่เคยร่วงลงไปอยู่ที่ระดับ 1.25 ดอลลาร์มาแล้ว โดยนับจากวันจันทร์ที่ผ่านมาราคาหุ้นเอไอจีได้ตกลงไปมากกว่าร้อยละ 60 ขณะที่ในภาพรวมนักลงทุนส่วนมากก็แสดงท่าทีที่ผิดหวังที่หลังการประชุม เฟดประกาศว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ดังเดิม