xs
xsm
sm
md
lg

วาณิชธนกิจถึงบทอวสานต์ โกลด์แมน-มอร์แกนแปรฐานะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/รอยเตอร์ – “โกลด์แมนแซคส์” และ “มอร์แกนสแตนลีย์” 2 วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯที่ยังคงเหลืออยู่ วิ่งโร่ขอแปรสภาพเป็น “โฮลดิ้งคอมปานีของธนาคาร” การยอมอยู่ใต้การกำกับตรวจสอบของ “เฟด” แลกกับการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพื่อช่วยประคับประคองตัวเองผ่านวิกฤตร้ายแรงคราวนี้ เท่ากับว่าโมเดล “ธนาคารเพื่อการลงทุน” ของวอลล์สตรีทที่ยืนยงมาได้หลายสิบปี ได้ถึงกาลอวสานต์แล้ว

เฟดได้ออกคำแถลงในคืนวันอาทิตย์(21) อนุมัติคำขอของโกลด์แมนแซคส์ และมอร์แกนสแตนลีย์นี้แล้ว ความเคลื่อนไหวคราวนี้เท่ากับโครงสร้างอุตสาหกรรมการธนาคารของสหรัฐฯ ซึ่งได้เริ่มแตกออกมาเป็นธนาคารพาณิชย์ และ วาณิชธนกิจ หรือธนาคารเพื่อการลงทุน ภายใต้กฎหมายที่ออกมาในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ช่วงทศวรรษ 1930 หวนกลับเข้าสู่รูปแบบเดิม คือมีแต่ธนาคารที่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารกลางเท่านั้น

ความเคลื่อนไหวคราวนี้นับเป็นความพยายามล่าสุดของทางการสหรัฐฯที่จะทำให้ตลาดการเงินที่สุดแสนจะปั่นป่วนผันผวน ได้กลับฟื้นคืนสู่ความสงบ โดยที่บังเกิดขึ้นภายหลังคณะรัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ยื่นข้อเสนอต่อรัฐสภา ขอใช้เงินภาษีของประชาชนราว 700,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อดูดซับหนี้เสียของพวกธนาคารและสถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของวิกฤตทางการเงินครั้งร้ายแรงที่สุดนับแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

โกลด์แมนแซคส์ และมอร์แกนสแตนลีย์อยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมาก ให้หาพันธมิตรที่แข็งแกร่งมาร่วมควบรวมกิจการ เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้สถาบันการเงินทั้งสอง และหลีกเลี่ยงการล้มครืนลงมา โดยที่วาณิชธนกิจวอลล์สตรีทอีก 3 แห่งซึ่งเคยเป็นคู่แข่งกันมานั้น แบร์สเติร์นส์ ซึ่งอยู่ในสภาพเรียกได้ว่าล้มละลาย ได้ถูกขายด้วยราคาแสนถูกให้แก่ เจพีมอร์แกนเชส ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วน เลห์แมน บราเธอร์ส ต้องขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว โดยในวันเดียวกันนั้น เมอร์ริลลินช์ ก็ยอมถูกเทคโอเวอร์โดย แบงก์ออฟอเมริกา

การตัดสินใจของเฟดที่ให้วาณิชธนกิจทั้งสอง กลายมาเป็นโฮลดิ้งคอมปานีของธนาคารหมายความว่าทั้งสองจะกลับเข้ามาอยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลภาคการธนาคารอีกครั้งหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็จะเปิดโอกาสให้ทั้งสองเข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่าเมื่อมีฐานะเป็นธนาคารเพื่อการลงทุน

ในคำแถลงการของเฟดระบุว่าคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางได้อนุมัติคำร้องขอของโกลด์แมนแซคส์และมอร์แกนสแตนลีย์ให้เป็นบริษัทเพื่อการถือหุ้นธนาคาร (bank holding company) รวมทั้งตกลงให้ทั้งสองบริษัทสามารถขอกู้เงินกับธนาคารกลาง โดยใช้หลักประกันทุกประเภทอย่างเดียวกับที่พวกธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตให้ใช้กันอยู่

เฟดกยังได้อนุมัติให้บริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเมอร์ริลลินช์ ใช้หลักทรัพย์แบบเดียวกันเมื่อมาขอกู้จากธนาคารกลางอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ทั้งโกลด์แมนและมอร์แกนสแตนลีย์ซึ่งต่างเป็นผู้ค้าตราสารรายใหญ่ให้กับเฟด (ไพรมารี ดีลเลอร์) สามารถกู้ยืมเงินจากเฟดโดยอาศัยฐานะนี้อยู่แล้ว ตามช่องทางให้กู้พิเศษที่เฟดเพิ่งเปิดขึ้นหลังแบร์สเติร์นล้มไปเมื่อเดือนมีนาคม

แต่การเปิดให้กู้ยืมสำหรับธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์เช่นนี้ ก็สร้างความวิตกให้แก่ทางการและถูกวิจารณ์จากหลายๆ ฝ่าย เพราะว่าธนาคารเพื่อการลงทุนนั้นไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบอันเข้มงวดเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจที่ธนาคารเพื่อการลงทุนทำนั้นนักวิเคราะห์มักเรียกว่า “ระบบการธนาคารในเงามืด” เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีระบบกำกับดูแลที่โปร่งใส และปัญหาสินเชื่อซับไพรม์ก็เกิดมาจากส่วนนี้เองและลุกลามไปจนดึงเอาภาคการเงินของสหรัฐฯทั้งระบบให้ทรุดลงมาด้วยในที่สุด

โกลด์แมนแซคส์แถลงว่า ต่อไปนี้จะกลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งคอมปานีด้านธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของสหรัฐฯ “และจะอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารกลางสหรัฐฯ” ตอนนี้โกลด์แมนแซคส์มีหน่วยงานสองแห่งที่รับเงินฝากจากประชาชนอยู่แล้ว นั่นคือ โกลด์แมนแซคส์ แบงก์ ยูเอสเอ และโกลด์แมนแซคส์ แบงก์ยุโรป พีแอลซี ซึ่งมีเงินฝากรวมกัน 20,000 ล้านดอลลาร์
ส่วนมอร์แกน สแตนลีย์ก็มีกิจการที่รับเงินฝากเงิน ที่มีเงินฝากรวม 36,000 ล้านดอลลาร์ สถาบันการเงินแห่งนี้อธิบายในคำแถลงของตนว่า ที่ขออนุมัติสถานะใหม่ก็เพราะต้องการให้บริษัทมีความยืดหยุ่นด้านการเงินมากขึ้น และมีโอกาสที่จะขยายไปทำธุรกิจใหม่ ๆให้มากกว่าเดิมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินอย่างรุนแรงและรวดเร็วนี้
ภายหลังที่เฟดอนุมัติสถานะใหม่แล้ว มีรายงานว่า มอร์แกนสแตนลีย์ ที่กำลังเจรจาแบบติดๆ ขัดๆ เพื่อควบรวมกิจการกับ วาโคเวีย แบงก์ ธนาคารในอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจทิ้งทางเลือกนี้ไปเลย ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของบุคคลที่ทราบเรื่องการเจรจาเป็นอย่างดี
ต่อมาเมื่อวานนี้(22) มอร์แกนสแตนลีย์ประกาศว่า สามารถทำข้อตกลงกับ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (เอ็มยูเอฟเจ) อันเป็นกลุ่มกิจการธนาคารใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยที่เอ็มยูเอฟเจตกลงจะซื้อหุ้นของมอร์แกนสแตนลีย์ 20%
นอกจากนั้น ยังมีรายงานจากแหล่งข่าวหลายกระแสว่า กิจการส่วนที่อยู่ในเอเชียของเลห์แมน ซึ่งเป็นที่หมายปองของหลายเจ้านั้น ปรากฎว่าผู้ชนะได้แก่ โนมูระ โฮลดิ้งส์ อิงก์ บริษัทโบรกเกอร์ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น
ส่วนในยุโรป ทั้งโนมูระ และธนาคารบาร์เคลย์ส ของอังกฤษ ต่างก็แข่งขันกันประมูลเสนอราคา เพื่อซื้อหาธุรกิจบางส่วนของเลห์แมนในทวีปนั้น

**รัฐบาล-รัฐสภาต่อรองรายละเอียด**

ทางด้านข้อเสนอให้ทางการสหรัฐฯเข้าดูดซับหนี้เสียของพวกสถาบันการเงิน ซึ่งอาจต้องใช้เงินสูงถึง 700,000 ล้านดอลลาร์นั้น มีรายงานว่าทางฝ่ายรัฐบาลกับรัฐสภากำลังเปิดการเจรจากันอย่างเข้มข้น
บรรดาผู้นำรัฐสภาของฝ่ายพรรคเดโมแครต ให้สัญญาว่าจะเร่งรัดให้แผนการนี้ซึ่งต้องออกเป็นกฎหมายผ่านรัฐสภา สามารถออกมาบังคับใช้โดยเร็ว ทว่าพวกเขาก็แสดงความปรารถนาให้มีการเข้าไปช่วยเหลือพวกเจ้าของบ้านที่ติดจำนองและกำลังต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยด้วย ไม่ใช่มุ่งช่วยเฉพาะวอลล์สตรีทเท่านั้น
“เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องลงมือทำให้เร็ว แต่ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือเราต้องทำอย่างรับผิดชอบด้วย” วุฒิสมาชิก คริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ของพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภา กล่าวให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์
ถึงแม้รัฐมนตรีคลัง เฮนรี พอลสัน ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญของฝ่ายรัฐบาล ได้พยายามเร่งงานประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ โดยที่เมื่อวันอาทิตย์(21)ได้ไปออกรายการทอล์กโชว์ด้านข่าวถึง 4 สถานีรวด ทว่าผู้คนยังคงรู้สึกว่า เขายังไม่ได้ตอบคำถามฉกรรจ์ๆ 2 คำถาม นั่นคือ ทางการจะต้องใช้จ่ายสำหรับการดูดซับหนี้เสียเหล่านี้เป็นเงินสักเท่าใด และจะเริ่มเข้าไปซื้อกันเมื่อใด
พอลสันนั้นพยายามย้ำว่า ข้อเสนอเช่นนี้แม้จะอยู่ในลักษณะของการเข้าไปแทรกแซงตลาด แต่ก็ต้องถือเป็นความชั่วร้ายระดับรอง เนื่องจากการไม่ทำอะไรจะเกิดผลตามมาซึ่งเลวร้ายกว่า และเป็นภาระให้แก่ผู้เสียภาษีมากกว่าด้วย
“นี่ไม่ใช่อะไรที่เราต้องการทำเลย แต่นี่เป็นอะไรที่จำเป็นมาก” พอลสันกล่าวทางเครือข่ายโทรทัศน์เอ็นบีซี “เราทำเรื่องนี้ก็เพื่อคุ้มครองผู้เสียภาษี”
ระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางทีวีหลายๆ ช่อง พอลสันขยายรายละเอียดด้วยว่า แผนการนี้จะเปิดทางให้เข้าไปซื้อหนีเสียของพวกสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ของสหรัฐฯ แต่ดำเนินกิจการในสหรัฐฯ รวมทั้งจะให้อำนาจกระทรวงการคลังซื้อสินทรัพย์จากกิจการที่ไม่ใช่ภาคการเงิน ตลอดจนสินทรัพย์ที่ไม่ได้ผูกพันกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้วยซ้ำ ถ้าหากเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพของตลาด
อย่างไรก็ดี เขายืนยันว่า จะไม่เข้าไปดูดซับสินเชื่อของพวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์
กำลังโหลดความคิดเห็น