เชียงราย – พุทธศาสนิกชนเมืองพ่อขุนฯ ฝ่าลมหนาวหลังเที่ยงคืน ร่วมตักบาตร “เป็งปุ๊ด” หรือสมโภชพระมหาอุปคุต กันอย่างคึกคัก
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงราย ว่าเมื่อเวลา 00.09 น.วันนี้ (12 พ.ย.) ประชาชนชาว จ.เชียงราย ได้พากันออกมาประกอบพิธีสมโภชพระมหาอุปคุต หรือตักบาตรตอนเที่ยงคืน ตามประเพณีที่ยึดถือกันมานานเมื่อถึงกำหนดวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ และตรงกับวันพุทธด้วย จึงเรียกกันกว่าวันเป็งปุ๊ด ซึ่งปีหนึ่งอาจจะมีเพียงแค่คืนหรือสองคืนเท่านั้น
ประชาชนได้พากันตั้งแถวตักบาตรตั้งแต่บริเวณวัดมิ่งเมือง เทศบาลนครเชียงราย ไปตามถนนบรรพปราการและถนนธนาลัย ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็นในช่วงเวลากลางคืน แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงนำข้าวสาร อาหารแห้งไปตักบาตรเพื่อให้เหมาะสมกับช่วงเวลา จากนั้นได้มีพระสงฆ์และสามเณรกว่า 100 รูปจากวัดต่างๆ ใน อ.เมือง ออกมารับบิณฑบาตรจากประชาชนโดยถ้วนหน้ากัน
ทั้งนี้ ประเพณีการตักบาตรเที่ยงคืน หรือวันเป็งปุ๊ด ถือเป็นประเพณีล้านนาที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน คนรุ่นใหม่หลายคนเริ่มละเลยประเพณีดังกล่าว จนถูกหลงลืมไปกับความทันสมัยในยุคปัจจุบัน
ปีนี้เทศบาลนครเชียงรายได้ร่วมกับคณะสงฆ์ จ.เชียงราย ทำการฟื้นฟูประเพณีคืนวันเป็งปุ๊ดให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายขึ้นมาอีกครั้ง ถือว่าการสืบสานประเพณีสำเร็จไปด้วยดีโดยมีประชาชนจำนวนมากออกมาตักบาตรและมีพระสงฆ์สามเณรกว่า 100 รูปออกรับบิณฑบาตร
นายปรีชา เกียรติปรีชา ผู้เชี่ยวชาญด้านประเพณีและภาษาล้านนา กล่าวว่า ประเพณีตักบาตรกลางคืนเป็นความเชื่อของชาวภาคเหนือตอนบนที่รับอิทธิพลมาจากประเทศพม่า โดยพระภิกษุสามเณรในเมืองจะออกบิณฑบาตรในตอนเที่ยงคืน ในทุกปีที่มีวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ โดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะอยู่ในเดือนหรือปีใด โดยบางปีอาจมีแค่ครั้งเดียว สองครั้ง หรือบางปีก็ไม่มีเลยก็ได้
ทั้งนี้ เป็นไปตามความเชื่อกันว่า พระอุปคุตเป็นพระอรหันต์ที่มีอิทธิฤทธิ์ และจะขึ้นมาจากการจำศีลใต้ทะเลลึกโดยจะแปลงกายมาเป็นสามเณรน้อยออกมาโปรดสัตว์ถ้าผู้ใดได้ตักบาตรกับพระอุปคุตต์แล้ว จะมีความร่ำรวยเป็นเศรษฐีและเป็นสิริมงคลในชีวิต
ดังนั้น ชาวเหนือจึงออกมาตักบาตรเที่ยงคืนกันมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นความเชื่อที่มีมานมนาน ถึงแม้ว่าจะผิดหลักพุทธบัญญัติแต่ก็มีการปฏิบัติกันมาตลอดและเป็นความเชื่อคงจะไปห้ามกันไม่ได้