ชัยภูมิ - น้ำเขื่อนลำปะทาว วิกฤตหลังแห่เลี้ยงปลาในกระชังกว่า 1,400 กระชัง ส่งผลปลาตายเกลื่อนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาขาดทุนยับรายละนับแสนบาท ล่าสุด เดือดร้อนปลาตายแล้วกว่า 22 ราย 283 กระชัง รวมเสียหายกว่า 5.6 ตัน ด้านประมงจังหวัด เต้นเตรียมจัดระเบียบเลี้ยงปลากระชังใหม่ทั้งระบบ เพื่อไม่ให้น้ำในเขื่อนเน่าเสีย และสร้างปัญหาส่งผลกระทบขยายวงกว้าง
วันนี้ (28 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงาน ชาวบ้านหมู่ 1 ต.ท่าหินโงม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ผู้เลี้ยงปลาในกระชังบริเวณเขื่อนลำปะทาวตอนล่าง กำลังประสบปัญหาปลาตายเป็นจำนวนมาก ล่าสุดมีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังตลอดเขื่อนลำปะทาวตอนล่างประสบปัญหาปลาตายแล้วไม่ต่ำกว่า 22 ราย รวมจำนวน 283 กระชัง เสียหายกว่า 5.6 ตัน ซึ่งปลาที่ตายส่วนใหญ่เป็นปลาทับทิมมีอายุ 3-4 เดือน น้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 300 กรัม และในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัด ได้นำตัวอย่างปลาที่ตายและน้ำไปตรวจสอบแล้ว
ว่าที่ ร.ต.นวรัตน์ จิตร์ภิรมย์ศรี ประมงจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบในพื้นที่เบื้องต้นพบว่า น้ำในเขื่อนลำปะทาวค่อนข้างพบสารปนเปื้อนสูง เพราะปัญหาส่วนหนึ่งคือบริเวณ รอบเขื่อนมีการปลูกพืชและใช้ยาฆ่าแมลงจำนวนมาก
รวมทั้งจากผลตรวจสอบทางวิชาการประมง จากปลาที่ตายพบมีการติดเชื้อแบคทีเรียและปลาขาดอากาศหายใจตาย และเกิดเชื้อตกตะกอนของเศษอาหารปลา จากการเลี้ยงปลากระชังในพื้นที่ที่หนาแน่นเกินไป ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีอยู่มากกว่า 1,400 กระชัง
ทั้งนี้ ต้องเร่งพูดคุยทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง เพื่อวางกฎเกณฑ์ไม่ให้เกิดมลภาวะน้ำเน่าเสียในเขื่อนเพิ่มมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของลำปะทาวทั้งระบบ ทั้งผู้เลี้ยงปลาและประชาชนผู้ใช้น้ำโดยเฉพาะน้ำประปา โดยจะต้องมีการเร่งจัดระเบียบการเลี้ยงปลากระชังใหม่ทั้งหมด ด้วยการทำประชาคมให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข เกิดประโยชน์ร่วมกัน
ส่วนในการแก้ไขเบื้องต้นทางประมงจังหวัดชัยภูมิ ขอประกาศแจ้งเตือนผู้เลี้ยงปลากระชัง อย่าเลี้ยงปลาเพิ่มขึ้นจนทำให้หนาแน่นเกินไป ถ้าพบปลาตายผิดปกติให้รีบจับออกจากกระชังทันที และการเลี้ยงช่วงนี้ต้องมีเครื่องช่วยเพิ่มอากาศในน้ำให้ปลาด้วยเพื่อป้องกันความสูญเสียจากปลาตาย
ขณะเดียวกัน ประมงจังหวัดชัยภูมิได้ตั้งคณะทำงานเข้ามาช่วยเฝ้าระวังโรคระบาด โดยในช่วงวิกฤตนี้จะมีชุดลงพื้นที่ตรวจคุณสมบัติของน้ำทุกระยะ และส่งหน่วยเตือนภัยอาสาสมัครเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาที่ผ่านการอบรม มาเป็นแกนนำช่วยตรวจสอบคุณภาพน้ำเบื้องต้นอย่างต่อเนื่องในระยะวิกฤตนี้ด้วย
ด้าน นายปรีชา โพธิ์คำ อายุ 57 ปี ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังเขื่อนลำปะทาว เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงปลาในกระชังจำนวนมากประสบปัญหาเดือดร้อนหนัก เพราะปลาตายอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่า เป็นเพราะโรคระบาดหรืออะไรกันแน่ จึงอยากให้หน่วยงานด้านประมงช่วยลงมาดูแลแก้ปัญหาโดยเร็ว ขณะนี้มีผู้เลี้ยงปลากระชังหลายรายได้รับความเสียหายขาดทุนไปแล้วไม่น้อยกว่าคนละนับแสนบาท
นางวรรณี พลเยี่ยม อายุ 37 ปี ผู้เลี้ยงปลากระชังในเขื่อนลำปะทาว เปิดเผยว่า ได้เลี้ยงปลาในกระชังอยู่ที่นี่มากว่า 6-7 ปีแล้ว ซึ่งจะเลี้ยงปลาต่อรุ่นไม่น้อยกว่า 20,000 ตัว แต่ขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนมากเนื่องจากปลาในกระชังตายเป็นจำนวนมากวันละกว่า 400 ตัว โดยไม่ทราบสาเหตุเพราะตั้งแต่เลี้ยงปลามายังไม่เคยประสบปัญหาเช่นนี้มาก่อน