xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานฯจ้างเอกชนสำรวจความเป็นไปได้สร้างอ่างเก็บน้ำคลองพร้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตราด - ชลประทานตราดจ้างบริษัทเอกชนสำรวจความเป็นไปได้สร้างอ่างเก็บน้ำคลองพร้าว แก้ปัญหาน้ำขาดแคลนบนเกาะช้าง อุทยานฯเกาะช้างจี้ทำถูกกฎหมายหากผิดถูกจับ

วันนี้( 7 ต.ค. 2551) ที่ห้องประชุมเกษตรและสหกรณ์ ศาลากลาง จ.ตราด นายสมศักดิ์ โยนกพันธ์ รองผู้ว่าราชการ จ.ตราด เป็นประธานประชุมโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียด อ่างเก็บน้ำคลองพร้าว อ.เกาะช้าง จ.ตราด

ทั้งนี้ มีนายสมโภชน์ ชูศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทาน จ.ตราด และตัวแทนบริษัท พี แอนด์ ซี แมเนจเมนท์ จำกัด ที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาการศึกษาโครงการศึกษา ความเหมาะสม และสำรวจออกแบบรายละเอียดอ่างเก็บน้ำคลองพร้าว จ.ตราด พร้อมด้วย นายสายันห์ สิงห์พันธ์ หัวหน้าส่วนป่าไม้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ตราด นายสุรชัย ปราณศิลป์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง และนายธัชชัย วัชรารักษ์ ผู้บริหารอาวุโส สำนักงานพื้นที่พิเศษเกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง

นายสมโภชน์ ชูศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานจังหวัดตราด กล่าวว่า ปัจจุบัน อ.เกาะช้าง มีปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะในช่วงฤดูการท่องเที่ยว (พฤศจิกายน-พฤษภาคม) ซึ่งประชาชนใน อ.เกาะช้างมีจำนวน 9,400 คน ขณะที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมา มากกว่า 1.2 ล้านคน/ปี และมีปริมาณการใช้น้ำสูงถึง 2.14 ล้านลบ.ม. ซึ่งในช่วง 4 เดือน (มกราคม-เมษายน) ที่เป็นช่วงแล้งที่สุดต้องใช้น้ำสูงถึง 480,000 ลบ.ม. ในขณะที่ประปาเกาะช้างผลิตน้ำได้เพียง 60,000 ลบ.ม. และในอนาคต ยังมีแนวโน้มขาดแคลนมากขึ้นในระยะ 2-3 ปีนี้

“มีการคิดแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในหลายวิธี ทั้งการส่งน้ำดิบจากแหล่งน้ำบนแผ่นดินจังหวัดตราด ไปสู่เกาะช้าง, การพัฒนาโครงการระดับท้องถิ่น, การผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล, การพัฒนาแหล่งน้ำโดยการก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำบนพื้นที่เกาะช้าง แต่แนวทางเรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองพร้าว เป็นแนวทางที่ ถูกที่สุด ซึ่งกรมชลประทานได้จ้างให้บริษัทที่ปรึกษามาดำเนินการการศึกษาความเป็นไปได้ โดยจะต้องมีการ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น แต่ต้องเข้าไปในพื้นที่อุทยานฯด้วย”

นายสุรชัย กล่าวว่า การดำเนินการใด ๆ ของบริษัทที่ปรึกษาต้องขออนุญาตจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะ ช้าง หรือกรมอุทยานฯ ก่อน หากเข้าไปโดยไม่แจ้งอุทยานฯ จะดำเนินการจับกุม เพราะเป็นเรื่องที่มีกฎหมายห้ามไว้แล้ว ที่ถูกต้องบริษัทที่ปรึกษาจะต้องขอให้มี มติครม. เพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนที่ดินในพื้นที่อุทยานฯ ก่อน จึงจะดำเนินการได้ และหากมีการเข้าไปอย่างไม่เป็นทางการ ก็ควรจะให้ทางอธิบดีทั้ง 2 คน ได้มีการประสานงานทางหนังสือก่อนจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

“ผมต้องเตือนไว้ก่อน เพราะอุทยานฯ มีกฎหมายห้ามชัดเจน และไม่ให้บุคคลอื่น ๆ เข้าไปขุด, เจาะพื้นที่ ในเขตอุทยานฯ ได้โดยพลการแม้ว่าจะเป็นงานเพื่อประชาชน อีกทั้งการทำอ่างเก็บน้ำอาจจะกระทบในพื้นที่ที่ น้ำท่วมในเขตอุทยานฯมากกว่า 150 ไร่ ต้นไม้จะต้องถูกตัดโค่นไป ซึ่งเป็นการสูญเสียพื้นที่ในเขตอุทยานฯ ด้วย”

ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้ เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น การดำเนินการใด ๆ จะต้อง เป็นไปตามระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันก็จะมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนชาวเกาะช้าง และนักธุรกิจในวันที่ 21-22 ตุลาคม 2551 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น