xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.สังศิต” ลั่นผ่าตัดกองทุนฟื้นฟูฯลบภาพเสื่อม - โอ่มาตรการแก้นี้เบ็ดเสร็จ 90 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น – กองทุนฟื้นฟู ประกาศเพิ่มประสิทธิภาพแก้หนี้เกษตรกรเบ็ดเสร็จ ภายใน 90 วัน เดินหน้าผ่าตัดโครงสร้างภายใน ลบภาพ องค์กรเสื่อม เผยปี 52 ตั้งเป้าฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร 2 แสนรายนำร่อง เน้นบูรณาการจัดการหนี้และฟื้นฟูอาชีพรายกลุ่ม

วันนี้ (6 ต.ค.) ที่ห้องประชุมภูผาม่าน โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จัดโครงการสัมมนาสัญจรภาค 4 ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสรุปบทเรียนการดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในปี 2551 ของแต่ละสาขาจังหวัด

รศ.ดร.สังศิต พิริยรังสรรค์ รักษาการตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เกิดขึ้นจากการที่เกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินและปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหามานานหลายสิบปี โดยกองทุนฯ จะเข้าไปชำระหนี้แทนเกษตรกรซึ่งมีหนี้อยู่ในสถาบันการเงินปกติ ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 กว่าต่อปี แล้วโอนหนี้มาไว้ที่กองทุนฯ โดยคิดอัตราค่าบริการเพียงร้อยละ 1 ต่อปี

กองทุนฯเป็นองค์กรที่มาจัดการปัญหาของเกษตรกร จึงมีเกษตรที่เป็นสมาชิกนับตั้งแต่ 2543 จนถึงปัจจุบันกว่า 6 ล้านคน และมีผู้เข้ามาแจ้งความประสงค์ขอให้กองทุนจัดการหนี้ให้กว่า 3 แสนราย ซึ่งปัจจุบันกองทุนฯ สามารถซื้อหนี้เกษตรกรไปได้ เกือบ 4 พันราย วงเงิน กว่า 5 ร้อยล้านบาท

ทั้งหมดเป็นหนี้ที่กำลังถูกเจ้าหนี้ดำเนินคดียึดทรัพย์ หรือถูกขายทอดตลาด ทำให้กองทุนรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรไว้ขณะนี้จำนวนเกือบ 2 หมื่นไร่

รศ.ดร.สังศิต กล่าวอีกว่า ในการแก้ไขปัญหาระบบการบริหารบริหารจัดการภายใน โดยจะนำหลักธรรมาภิบาลมาเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายและในการบริหารจัดการ โดยจะร่วมมือกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ในการสร้างประมวลจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ ของพนักงานภายใน 60 วัน พร้อมกับสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ในการโยกย้ายตำแหน่ง ปรับโครงสร้างการบริหารงาน และให้หน่วยงานที่เป็นกลางมาทำหน้าที่ประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน วงระบบบัญชี การเงิน และการตรวจสอบ เพื่อให้สามารถจัดทำรายงานการเงินต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ได้เป็นครั้งแรกนับแต่ก่อตั้งกองทุนฯ ภายใน 90 วัน

ด้านการจัดการหนี้จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการซื้อหนี้เกษตรกรอย่างเป็นระบบภายใน 90 วัน โดยบูรณาการบริการจัดการหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แทนที่จะแยกกันทำงานเหมือนอดีต โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างองค์กร สร้างองค์ความรู้ที่หลากหลายในการบริหารจัดการหนี้และการฟื้นฟูชีวิตของเกษตรกร โดยจะอาศัยศูนย์ฝึกอบรมของปราชญ์ชาวบ้าน สถาบันการศึกษาของมหาวิทยาลัย องค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร

สำหรับเป้าหมายต่อไปในปี 2552 จะวางระบบการจัดการหนี้และฟื้นฟูอาชีพให้สอดคล้องกันมากขึ้น โดยผู้เข้ารับจัดการหนี้จำนวน 3,586 ราย จะเข้าสู้กระบวนการฟื้นฟู ซึ่งขณะนี้กองทุนฯได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 168,597,204 บาท ให้กับองค์กรเกษตรกรจำนวน 2,649 องค์กร เพื่อการฟื้นฟูอาชีพสำหรับเกษตรกรจำนวน 237,984 ราย

งบประมาณก้อนแรกเป็นงบอุดหนุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรเกษตรกร สำหรับในปีต่อไปจะเป็นเงินให้กับองค์กรเกษตรกรกู้ยืม เพื่อนำไปประกอบอาชีพตามแผนและโครงการที่องค์กรเกษตรกรเสนอมา ซึ่งกองทุนตั้งงบประมาณไว้ 450 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น