xs
xsm
sm
md
lg

กาญจนบุรีจับมือชลประทานวางแผนเก็บน้ำเข้าอ่าง “ลำอีซู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ
กาญจนบุรี - จังหวัดกาญจนบุรีจับมือชลประทาน 13 จัดโครงการศึกษา สำรวจ ออกแบบ ขยายความจุอ่างเก็บน้ำ “ลำอีซู” เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงฤดูแล้ง

วันนี้ (30 ก.ย.) เวลา 08.45 น. นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดการประชุมเสวนาโครงการ “การศึกษา สำรวจ ออกแบบ ขยายความจุอ่างเก็บน้ำลำอีซู อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี” ณ ห้องสังขละบุรี โรงแรมริเวอร์แคว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีสำนักงานชลประทานที่ 13 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวของเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน

หลังจากนั้น นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริแก่เจ้าหน้าที่ชลประทานและเจ้าหน้าที่สำนักเลขานุการ กปร. ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตลดา ให้พิจารณาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่พำปลูกของราษฎรที่ขาดแคลนน้ำในเขตจังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี กรมชลประทานจึงได้นำพระราชดำริดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำห้วยตะเพิน ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา อำเภอบ่อพลอย ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำห้วยตะเพิน มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 604,512 ไร่ ปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากน้ำในพื้นที่อำเภอบ่อพลอยเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงฤดูฝนเกิดสภาวะน้ำท่วม

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนฤดูแล้งก็เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และ การเกษตรพื่นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก อ่างเก็บน้ำลำอีซู ก่อสร้างปิดลำห้วยสาขาของห้วยตะเพิน เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มีน้ำหลาก สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งได้ ปัจจุบันอัตราประชากรและการประกอบอาชีพทางการเกษตรในเขตพื้นที่อำเภอบ่อพลอยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แหล่งน้ำที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ และเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงฤดูแล้งทำให้พื้นที่การเกษตรเกิดปัญหา

กรมชลประทานโดยสำนักชลประทานที่ 13 เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่อำเภอบ่อพลอย จึงได้ดำเนินการศึกษาโครงการขยายความจุอ่างเก็บน้ำ “ลำอีซู” ขึ้น เพื่อการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจ ออกแบบรายละเอียดโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการศึกษาโครงการได้มุ่งเน้นความสำคัญไปที่การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์และรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการอย่างถูกต้อง รวมถึงได้ทราบความก้าวหน้าการดำเนินการศึกษาเป็นระยะๆ ในการศึกษาจะเน้นความสำคัญเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับโครงการให้มากที่สุดและมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการศึกษา โดยจัดให้มีประชุมรับฟังความคิดเห็นในระดับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาแหล่งน้ำที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น