xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ เดินหน้าศึกษาผลกระทบโครงการปรับปรุงเขื่อนลำปาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กาฬสินธุ์ - กรมชลประทานดึงทุกภาคส่วนเสนอแนะปัญหา พร้อมเดินหน้าศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำลำปาวจังหวัดกาฬสินธุ์

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (29 ก.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ นายอภัย แก้วมรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งกรมชลประทานจัดขึ้น เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้เสนอแนะปัญหา และรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการศึกษาโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน

นายพรเทพ เหม็งประมูล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นโครงการประเภทกักเก็บน้ำและส่งน้ำขนาดใหญ่ ที่ได้ก่อสร้างและใช้งานมายาวนาน โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2506 แล้วเสร็จในปี 2511 กักเก็บน้ำได้ 1,430 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้กับเกษตรกรในช่วงฤดูฝนครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 314,000ไร่ และช่วงฤดูแล้ง 180,000 ไร่

ทั้งนี้ เนื่องจากเขื่อนลำปาวได้ก่อสร้างและใช้งานมานานถึง 40 ปี จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำซึมด้านลาดท้ายเขื่อน เกิดปัญหาอุกทกภัยด้านท้ายเขื่อนมีความจำกัดด้านขีดความสามารถในการระบายน้ำของอาคารระบายน้ำล้น ประกอบกับปัจจุบัน ประชาชนมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวนมาก

ดังนั้น กรมชลประธานจึงมีโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพ การกักเก็บน้ำอ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้มีการปรับปรุงเขื่อนเพิ่มความหนาของเขื่อน ก่อสร้างอาคารระบายน้ำล้นใหม่ ปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้นเดิม ติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อนและอุปกรณ์ประกอบและปรับปรุงอื่นๆ อีก ใช้งบประมาณทั้งหมด 1,820 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปี 2549 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2553

นายพรเทพ กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการดำเนินโครงการดังกล่าว กรมชลประทานจึงได้จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้นโดยเชิญตัวแทนหน่วยงานระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนประชาชนในพื้นที่ สื่อมวลชน และองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมรับฟังข้อมูลรายละเอียด ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อที่จะนำไปเผยแพร่สู่ประชาชนในวงกว้าง พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะคณะทำงานได้ปรับรูปแบบการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่มากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น