xs
xsm
sm
md
lg

ทหารไทย-กัมพูชา ตรึงกำลังเข้ม “ตาควาย”-เขมรเหิมป่วนบุกชายแดนไม่เลิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราสาทตาควาย ชายแดนไทย-กัมพูชา บ.ไทยนิยม  ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา – ทหารไทย-กัมพูชา ตรึงกำลังเผชิญหน้าคุมเข้มชายแดน “ปราสาทตาควาย” อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ หลังกัมพูชาป่วนชายแดนไทยไม่เลิกส่งกองกำลังติดอาวุธสงครามครบมือ 150 นาย บุกยึดปราสาทตาควายประจันหน้าทหารไทยตึงเครียดหวิดปะทะ ผบ.กกล.สุรนารี รุดเจราจา 2 ฝ่ายถอนกำลังพร้อมเสาธงชาติ ออกจากตัวปราสาทเข้าไปอยู่ในเขตแดนตัวเองฝ่ายละ 300 เมตร เผยเสนาธิการกองทัพภาคไทย-กัมพูชา รุดหารือด่วนพร้อมนัดเจรจาระหว่างแม่ทัพระดับภูมิภาค 2 ประเทศหาข้อยุติร่วมกันปลายเดือนนี้

วันนี้ (14 ก.ย.) แหล่งข่าวทหารระดับสูงในกองกำลังสุรนารี (กกล.สุรนารี) จ.สุรินทร์ กองทัพภาคที่ 2 เปิดเผยว่า ขณะนี้ทหารไทยและทหารกัมพูชา ยังคงตรึงกำลังเผชิญหน้ากันอยู่ที่บริเวณปราสาทตาควาย ชายแดนไทย-กัมพูชา บ.ไทยนิยม ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้วางกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือในฝั่งประเทศของตัวเองห่างจากตัวปราสาทฝ่ายละประมาณ 300 เมตร ซึ่งสถานการณ์ยังอยู่ในภาวะตึงเครียด เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ปราสาทตาควายและยึดถือแผ่นที่คนละฉบับ

รวมทั้งพื้นที่ชายแดนดังกล่าวยังไม่การปักปันเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศ เช่นเดียวกับกรณีปัญหาปราสาทตาเมือนธม บ.หนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ซึ่งปราสาทตาควายตั้งทางด้านทิศตะวันออกห่างจากปรสาทตาเมือนธมประมาณ 12 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ความตึงเครียดดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ทหารชายแดนกัมพูชา ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่บ้านทะมอโดน อ.บันเตียอำปึล จ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา นำโดย พ.อ.เนี๊ยะ วงศ์ รองเสนาธิการกองพลทหารชายแดนที่ 402 ประเทศกัมพูชา ได้นำกำลังทหารกว่า 150 นาย พร้อมอาวุธสงครามครบมือ เข้ามายึดตัวปราสาตาควายและพื้นที่โดยรอบปราสาท รวมทั้งได้นำธงชาติกัมพูชามาปักไว้ภายในตัวปราสาท ด้วย

ทำให้ทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 2606 กรมทหารพรานที่ 26 กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ของไทย ที่ประจำการอยู่บริเวณพื้นที่ชายแดนปราสาทตาเมือนธม ได้ส่งกำลังเข้าเผชิญหน้ากับทหารกัมพูชาทั้งบริเวณภายในตัวปราสาทและพื้นที่รอบปราสาท พร้อมพยายามเจรจาให้กัมพูชาถอนกำลังทหารและนำธงชาติออกไป ซึ่งกำลังทหารทั้ง 2 ฝ่าย ประจัญหน้าห่างกันแค่ประมาณ 10 เมตร และสถานการณ์ตึงเครียดอย่างหนักถึงชั้นหวิดปะทะกันขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า จนกระทั่งวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.ต.กนก เนตระคเวสนะ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี (ผบ.กกล.สุนารี) ได้เข้าเจรจา กับ พ.อ. เนี๊ยะ วงศ์ รองเสนาธิการ ทหารชายแดนที่ 402 ประเทศกัมพูชา ที่บริเวณปราสาตาควาย ทำให้สถานการณ์ได้ลดความตึงลงระดับหนึ่ง

โดยมีข้อตกลงเพื่อลดการเผชิญหน้าร่วมกันว่าให้ทั้ง 2 ฝ่าย ถอนกำลังออกจากตัวปราสาทเขาพระวิหาร และให้วางกำลังทหารได้จำนวนเท่ากันห่างจากตัวปราสาทระยะเท่ากันฝั่งละไม่ต่ำกว่า 300 เมตร ทั้งนี้จนกว่าการเจรจาระดับสูงของ 2 ประเทศจะได้ข้อยุติและคณะกรรมการปักปันเขตแดนทั้ง 2 ประเทศเข้ามาสำรวจเพื่อทำการปักปันเขตแดนต่อไป

“ทางการทหารแล้วการประจันหน้ากันกรณีปราสาทตาควาย นี้ ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากมีโอกาสเกิดการปะทะขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะจุดนี้เป็นปราสาทที่อยู่ในป่าลึก แม้แต่ฝั่งไทยต้องเดินเท้าเข้าไปกว่า 3-4 กิโลเมตร ต่างจากกรณีปัญหาปราสาทพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ ปราสาทตามเมือนธม จ.สุรินทร์ ปราสาทสต็อกก๊อกธม จ.สระแก้ว ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวไปแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด คณะเสนาธิการกองทัพภาคที่ 2 กับ เสนาธิการทหารภูมิภาคทหารที่ 4 ประเทศกัมพูชา ได้เข้าหารือกันเป็นการเร่งด่วนที่บริเวณด่านผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา ช่องจอม-โอร์เสม็ด อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เพื่อรวบรวมข้อมูล ประเด็นข้อพิพาททั้งหมดกรณีปราสาตาควายเสนอต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมกำหนดการประชุมเพื่อหาข้อยุติร่วมกันระหว่างแม่ทัพระดับภูมิภาคทั้ง 2 ประเทศ คือ แม่ทัพภาคที่ 2 ของไทย กับ ผู้บัญชาการทหารภูมิภาคทหารที่ 4 กัมพูชา ในปลายเดือน ก.ย.นี้

พล.ต.กนก เนตระคเวสนะ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี (ผบ.กกล.สุรนารี) และ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 (ผบ.พล.ร 6) กองทัพภาคที่ 2 เปิดเผยว่า กรณีปัญหาปราสาทตาควายนั้นตนได้เจรจากับ พ.อ.เนี๊ยะ วงศ์ รองเสนาธิการทหารชายแดนที่ 402 ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้นำทหารเข้ามายังปราสาทตาควายแล้ว เป็นที่เข้าใจกันดีสามารถตกลงกันได้ โดยให้ต่างฝ่ายต่างถอนทหารออกไป ทหารทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่มีการเข้ายึดตัวปราสาทตาควายไว้ จนกว่าคณะกรรมมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) จะทำการสำรวจและปักปันเขตแดนแล้วเสร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ว่า สำหรับปราสาทตาควาย ตั้งอยู่บ้านไทยนิยม ต.บักได องพนมดงรัก จ.สุรินทร์ ถือว่าเป็นปราสาทหินอีกแห่งนี้ ที่ตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาพนนมดงรัก ชายแดนไทย-กัมพูชา ทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ้างดินแดนเหนือพื้นที่ปราสาทตาควาย และทั้ง 2 ฝ่ายมีการส่งทหารเข้าไปดูแลอย่างต่อเนื่องซึ่งที่ผ่านมาทหารไทย-ทหารกัมพูชา ต่างได้ร่วมกันลาดตระเวนบริเวณชายแดนปราสาทตาควาย

แต่มาระยะหลังนี้ หลังเกิดกรณีปัญหาพิพาทปราสาทพระวิหาร ด้านชายแดนไทย-กัมพูชา จ. ศรีสะเกษ ทางรัฐบาลกัมพูชาได้ให้ทหารประจำพื้นที่ชายแดนเข้ายึดปราสาททุกแห่งที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เรื่อยมาจากปราสาทพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ มาถึงกรณี ปราสาทตาเมือนธม และ ปราสาทตาควาย จ.สุรินทร์ แม้กระทั่งปราสาทสต็อกก๊อกธม จ.สระแก้ว ซึ่งฝ่ายกัมพูชาอ้างว่า เป็นปราสาทอยู่ในพื้นที่เขตแดนประเทศกัมพูชา ซึ่งฝ่ายไทยเองก็อ้างสิทธิเหนือปราสาททุกแห่ง โดยยึดถือสันปันน้ำ ตามหลักสากล เช่นเดียวกับปราสาตาควาย ที่ตั้งอยู่บนสันเขาห่างจากหน้าผาสูงประมาณ 10 เมตร ก่อนที่จะลาดชันลงไปยังฝั่งประเทศกัมพูชา

ทั้งนี้ “ปราสาทตาควาย” ตามหลักฐานของกรมศิลปากรของไทย ระบุว่า เป็นปราสาทตั้งอยู่ทิศใต้ของ บ้านไทยนิยมพัฒนา ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ใกล้กับแนวชายแดนประเทศไทยกับราอาณาจักรกัมพูชา บริเวณเส้นรุ้งที่ 14 ๐ 21' 22" เหนือ เส้นแวง ที่ 103 ๐ 22'39" ตะวันออก พิกัดกริด 250870 และ เนื่องจากปราสาทตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณตัวปราสาทยังปรากฏเพิง และก้อนหินขนาดใหญ่อยู่โดยทั่วไป

ลักษณะของโบราณสถาน เป็นปราสาทจตุรมุข ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกผังของตัวอาคารเป็นรูปกากบาท มุขหน้าทิศตะวันออก ยาวกว่าด้านที่เหลือ อีกสามด้านเล็กน้อย ส่วนฐานต่ำ ส่วนล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ส่วนบนก่อด้วยศิลาทรายทั้งหมด หลังคาห้องครรภคฤหะ ก่อเป็นทรงพุ่ม (ยอดปรางค์) ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น ส่วนหลังคามุขก่อเป็นรูปประทุน ไปจรดหน้าบันทั้ง 4 ด้าน ภายในห้องครรภฤหะพบชิ้นส่วนประติมากรรม ลักษณะคล้ายศิวลึงค์ธรรมชาติ หรือสวายยัมภูวลึงค์ทิ้งอยู่ 1 ชิ้น

ปราสาทหลังนี้มีสภาพค่อนข้างดี การก่อสร้างโดยเฉพาะโครงสร้างของตัวอาคารนั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหลัง ยังขาดอยู่เฉพาะการปรับผนังและตกแต่งลวดลายลงบนส่วนสำคัญของตัวอาคาร เช่นหน้าบัน ทับหลัง เสาติดพนัง เสาประดับกรอบประตูและผนัง

การกำหนดอายุ ปราสาทหลังนี้ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากยังมิได้มีการสลักลวดลายประดับตกแต่งตัวอาคาร และชิ้นส่วนสำคัญของสถาปัตยกรรม แต่เมื่อพิจารณาจากผนังและรูปทรงของตัวปราสาท อาทิ หลังคาทรงพุ่มส่วนยอดของห้องครรภคฤหะและมีการเพิ่มพุ่ม การก่อหลังคาและเจาะช่องหน้าต่างที่ผนังมุขทั้ง 4 ด้าน

รวมทั้งลักษณะการเข้าวงกบประตูเลียนแบบเครื่องไม้ซึ่งเปรียบเทียบได้กับปราสาทประธานปราสาทหินพิมาย ปราสานครวัดและปราสาทธมมานนท์ ศิลปะขอมแบบบาปวนตอนปลายและนครวัดราว ปลายพุทธศตวรรษ ที่ 16 ถึงสิ้นพุทธศตวรรษที่ 18 จึงอาจกำหนดอายุได้ว่าปราสาทตาควาย น่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปราสาทตาควาย อยู่ลึกติดแนวชายแดนทั้งไทยและกัมพูชา การเดินทางเข้าไปชมปราสาทตาควายทำได้ค่อนข้างลำบาก ต้องเดินทางเท้าขึ้นเขาไปชมปราสาทท่ามกลางป่ารกทึบตามธรรมชาติ จากบ้านไทยนิยมพัฒนาขึ้นไปตามเทือกเขาพนนมดงรักระยะทาง 8 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางลำบากมาก ปราสาทหลังนี้จึงไม่เป็นที่มีชื่อเสียงมากนัก ทั้งที่หลักฐานนั้นยืนยันว่าเป็นปราสาทตั้งอยู่ในเขตแดนไทยตามหลักฐานสันปันน้ำ


แผนที่ตั้งปราสาทตาควาย



(ขวาสุด) พ.อ. เนี๊ยะ วงศ์ รองเสนาธิการทหารชายแดนที่ 402 กัมพูชา
กำลังโหลดความคิดเห็น