xs
xsm
sm
md
lg

แฉเขมรเหิมเกริมข่มขู่ไทย แค่แผนกลบข่าวฆ่าประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (14 ก.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก มีการประชุม ผบ.เหล่าทัพ นัดพิเศษเพื่อหารือถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ด้าน จ.ศรีสะเกษ หลังจากที่สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา บังอาจสั่งการให้ไทยถอนกำลังทหารบริเวณจุดดังกล่าวออกภายในเที่ยงวันวานนี้ โดยในที่ประชุมมี พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน ส่วน ผบ.เหล่าทัพ ประกอบด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหาร พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ
จากนั้นเวลา 13.30 น. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก แถลงผลการประชุม ผบ.เหล่าทัพวาระพิเศษว่า ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่ากองทัพไทยจะยังคงกำลังทหารอยู่ในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิเหนือพื้นที่นั้น ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการประสานการปฏิบัติในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับรัฐบาล เพื่อให้มีการปักปันเขตแดน โดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนจากทั้ง 2 ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
"ผบ.ทุกเหล่าทัพมารับทราบและติดตามสถานการณ์ร่วมกันเพื่อประสานการปฏิบัติ โดยทั้ง 3 เหล่าทัพยืนยันว่า กองทัพมีความพร้อมทั้งด้านกำลังเผชิญหน้าในพื้นที่และกำลังสนับสนุน รวมถึงศักยภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์ในการปกป้องรักษาอธิปไตย และผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะนำข้อมูลเหล่านี้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อไป"
สำหรับประชาชนไทยที่อาศัยและประกอบอาชีพอยู่ในกัมพูชานั้น พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า เป็นดุลยพินิจของกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาล ที่จะพิจารณาความเหมาะสมเรื่องการเดินทางกลับประเทศไทย แต่ในส่วนของกองทัพบก ได้ประสานกับทุกเหล่าทัพ เตรียมแผนสนับสนุนการอพยพคนไทยในกัมพูชาไว้พร้อมแล้ว หากได้รับคำสั่งจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ไทยกับกัมพูชาเป็นประเทศที่มีเส้นเขตแดนติดกัน การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการเจรจาจึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า และฝ่ายไทยพร้อมที่จะดำเนินการต่อไป
"ขอยืนยันว่า ไทยจะไม่เป็นฝ่ายรุกรานใครก่อน แต่หากกัมพูชารุกล้ำเข้ามา ไทยก็พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยเหนือดินแดนของไทย และเป็นที่สังเกตของทุกคนว่า ปัญหานี้มีมานานแล้ว แต่ทำไมถึงเพิ่งยกระดับ ซึ่งคงเป็นความต่อเนื่องที่กัมพูชาประสงค์จะยกระดับเรื่องนี้ไปสู่การแก้ปัญหาในระดับนานาชาติ"
พ.อ.สรรเสริญ ยอมรับว่า นอกจากกำลังทหารที่มีอยู่เดิมในพื้นที่แล้วได้มีการปรับกำลังเพิ่มเติมเพื่อเตรียมรับ หากมีสถานการณ์เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการรักษาอธิปไตยตามแนวเขตชายแดนอยู่ในดุลยพินิจที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผบ.เหล่าทัพ สามารถดำเนินการได้เลย ส่วนการปฏิบัติภารกิจที่นอกเหนือจากนั้น ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และจากการติดตามข้อมูลข่าวสารทราบว่า กัมพูชาก็มีความพร้อมเช่นกัน

**มทภ.2ลั่นไม่ถอนกำลังแม้แต่ก้าวเดียว
วันเดียวกันเวลา 15.00 น.ที่ห้องประชุมชั้น 2 สโมสรร่วมเริงไชย ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ หนีพาล แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) พร้อมรองแม่ทัพภาคที่ 2 ได้แถลงข่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาว่า หลังจากทางการกัมพูชายื่นคำขาดให้ไทยถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ ทางกองทัพขอยืนยันว่า จะไม่มีการถอนกำลังออกจากพื้นที่ทับซ้อนอย่างแน่นอน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวทั้ง 2 ประเทศต่างอ้างสิทธิ์ในการครอบครองและถือแผนที่กันคนละฉบับ ซึ่งจะต้องรอคณะกรรมการมาเจรจาหาข้อยุติและเป็นหน้าที่ของรัฐบาล
ส่วนกำลังทหารที่ถอยออกมานั้นเป็นชุดลาดตระเวนหรือชุดเฝ้าระวัง ซึ่งเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ 30 นายเท่านั้นไม่ใช่ 80-100 นายตามที่ฝ่ายกัมพูชากล่าวอ้าง ส่วนเหตุที่ทหารไทยต้องเข้าไปปฏิบัติภารกิจ เนื่องจากมีทหารเหยียบกับระเบิดจึงต้องใช้กำลังในการลำเลียง
"ผมในนามกองทัพบกและกองทัพภาคที่ 2 มั่นใจว่าทางกองทัพจะสามารถรักษาอธิปไตยของประเทศไว้ได้ ประชาชนไม่ต้องกังวลใจ และหากเกิดการปะทะกันขึ้น ผมก็ได้เตรียมความพร้อมอพยพประชาชนออกจากพื้นที่แล้ว เบื้องต้นได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีพื้นที่ติดแนวชายแดนรับทราบแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอแจ้งเตือนประชาชนเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่แนวชายแดน หรือเดินทางเข้ากัมพูชาในช่วงนี้เนื่องจากสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง"
พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า การเจรจาระดับแม่ทัพภาคนั้นได้พูดคุยกันไปตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.แต่วันนี้ยังไม่มีการเจรจาใดๆ กับแม่ทัพของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งขณะนี้กองกำลังสุรนารีเป็นกองกำลังหลักที่ใช้ตรึงกำลังอยู่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งคิดว่าเพียงพอที่จะรับมือได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ไม่ได้ประมาทมีการเตรียมกำลังส่วนอื่นๆ ไว้เพิ่มเติมเช่นกัน
"มาถึงวินาทีนี้สถานการณ์โดยรวมของชายแดนไทย-กัมพูชาถือว่าน่าเป็นห่วง แต่เรามั่นใจว่าทหาร พร้อมเต็มที่ในการปฏิบัติหน้าที่รักษาอธิปไตยของไทย ซึ่งจากการประชุมหารือผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้บัญชาการทหารบกเมื่อเช้านี้ท่านได้ให้กำลังใจและให้เพิ่มเติมอาวุธยุทโธปกรณ์ พร้อมแสดงความห่วงใยต่อกำลังพลที่มีการเผชิญหน้ากันอยู่ นอกจากนี้ เราก็ได้ประสานทางกองทัพอากาศในการเตรียมพร้อมกำลังทางอากาศด้วย"

**ชายแดนไทย-เขมรตึงเครียด
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศชายแดนไทย-กับพูชาทางด้าน จ.สุรินทร์วานนี้ พบว่าทหารพรานได้ตรึงกำลังเข้มพร้อมเพิ่มความระวังเป็นพิเศษ บริเวณพื้นที่พิพาทด้านประสาทตาเมือน และปราสาทตาควายชายแดนไทย-กัมพูชาด้าน จ.สุรินทร์ หลังพบว่าทหารกัมพูชาได้เพิ่มกำลังทหารเข้ามาอีกหลายร้อยนาย ใน อ.บันเตียอำปึล จ.อุดมมีชัย ห่างจากปราสาทตาเมือนธม ประมาณ 20 กิโลเมตร พร้อมอาวุธหนักหลายชนิด ขณะที่กำลังอีกส่วนเตรียมเข้ายึดพื้นที่ปราสาทตาควาย
ขณะที่ชายแดนไทย-กัมพูชาทางด้าน จ.ศรีสะเกษ ก็มีความเคลื่อนไหวอย่างตรึงเครียดเช่นกัน แต่เป็นไปอย่างเงียบๆ โดยบริเวณฐานปืนใหญ่ทหารไทย น้ำตกภูละออ ติดกับหมู่บ้านซำเม็ง ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ ได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ขณะที่ตามหมู่บ้านตลอดแนวชายแดน ได้ประกาศผ่านหอกระจายข่าวห้ามชาวบ้านเดินทางเข้าใกล้พื้นที่เขาพระวิหาร เพื่อความปลอดภัย ยกเว้นพื้นที่เสี่ยงหมู่บ้านซำเม็ง ที่ได้อพยพประชาชนออกไปบ้างแล้วบางส่วน

**"สมชาย" ยันจะใช้วิธีการเจรจา2ฝ่าย
ขณะที่เวลา 15.30 น.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมร่วมกับ ผบ.เหล่าทัพ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ไทยจะไม่เป็นผู้บุกรุกชายแดนเพื่อนบ้าน แต่จะเป็นเพียงการเฝ้าระวังและจะไม่ใช้กำลังทหาร ส่วนการแก้ปัญหานั้นจะใช้สันติวิธีด้วยการเจรจาของทั้ง 2 ประเทศโดยจะมีการเจรจากันในวันที่ 21 ต.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการประชุมคณะกรรมการชายแดนภูมิภาค โดยในวันนี้ (15) จะเป็นการประชุมของฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการชายแดนภูมิภาค สำหรับด่านชายแดนไทย-กัมพูชาจะยังไม่มีการปิดด่าน เพราะสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องปิดด่าน
"ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่นั้นเท่าที่ฟังมีความสงบไม่มีอะไรรุนแรง ยืนยันว่าทหารอยู่ในเขตแดนที่เป็นของเรา ส่วนการอพยพประชาชนนั้นถ้าไม่จำเป็นก็ไม่แตะต้อง แต่ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องอพยพกลับทันที อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผมยังไม่ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่ยืนยันว่าตอนนี้ไทยกับกัมพูชายังเป็นมิตรกันดีต่อกันอยู่"
ด้านนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยยอมรับว่า มีความลำบากใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ทางการกัมพูชาให้ข่าว โดยระบุว่า นโยบายของรัฐบาลไม่มีอะไรแตกต่างไปจากนโยบายของกองทัพ
ขณะเดียวกันนายสมพงษ์ ยืนยันว่า ไทยจะไม่รุกล้ำอธิปไตยของเพื่อนบ้านและไม่ให้เพื่อนบ้านรุกล้ำอธิปไตยของไทยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ทหาร 80 นาย ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ และไม่ได้ถอนทหารออกจากพื้นที่แต่อย่างใด โดยในวันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค จากนั้นในวันที่ 21 ต.ค.จะหารือกันเต็มคณะที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เชื่อว่าการเจรจาระดับทวิภาคีจะเป็นประโยชน์เพราะจะไม่มีการเผชิญหน้า หรือเสียเลือดเนื้อ

**กต.ยันไทยจำเป็นต้องคงทหาร
ด้านนายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงถ้อยแถลงของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาว่า ไทยรู้สึกประหลาดใจที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชายื่นคำขาดต่อประเทศไทยให้ถอนกำลังทหารไทยออกจากดินแดนที่ติดกับปราสาทพระวิหาร และขู่จะใช้กำลังหากไม่ดำเนินการ ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าสวนทางกับการอยู่ร่วมกันฉันท์เพื่อนบ้านที่ดี และขัดต่อสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน นอกจากนี้ ยังขัดกับแนวทางสากลในการแก้ไขปัญหาในระดับทวิภาคีโดยใช้แนวทางสันติที่ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ที่ผ่านมาไทยได้พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแก้ปัญหาเขตแดนกับกัมพูชาโดยสันติวิธีและที่ผ่านมาก็มีความคืบหน้าที่น่าพอใจ อีกทั้งทหารทั้งสองฝ่ายได้ยังตกลงจะจัดประชุมสมัยพิเศษของคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคในวันที่ 21 ต.ค.นี้ และจะมีการประชุมฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ด้วย
นายธฤต กล่าวว่า ระหว่างนี้ไทยมีความจำเป็นต้องเก็บกู้ระเบิดตามพันธกรณีภายในอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดในพื้นที่ติดกับปราสาทซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ซึ่งการเก็บกู้กับระเบิดเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อประกันความปลอดภัย หลังจากที่ทหารพรานของไทย 2 นาย ได้รับบาดเจ็บขาขาดจากการเหยียบกับระเบิด เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ซึ่งกำลังตรวจพิสูจน์ว่าเป็นกับระเบิดที่มีอยู่เดิมหรือวางขึ้นใหม่เมื่อเร็วๆ นี้
"หากกัมพูชาหันไปใช้กำลังในการแก้ปัญหาตามที่มีการยื่นคำขาดไทยจำเป็นต้องใช้สิทธิในการป้องกันตนเองตามกฎบัตรสหประชาชาติเพื่อปกป้องบุคลากรที่ทำการเก็บกู้กับระเบิดและอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย ไทยได้เรียกร้องมาตลอดและยืนยันจะแก้ปัญหาโดยสันติวิธีผ่านช่องทางการหารือ โดยรมว.ต่างประเทศของไทยกัมพูชา ได้ตกลงในการประชุมที่เสียมราฐ และ อ.ชะอำ เมื่อวันที่ 28 ก.ค.และ 19 ส.ค.51 และทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันมุ่งมั่นจะยับยั้งชั่งใจจนถึงที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ต่างประเทศ ได้ย้ำกับกัมพูชาในระหว่างการเยือนกัมพูชา เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยไทยได้ยึดตามความมุ่งมั่นดังกล่าวนี้เคร่งครัด และหวังว่ากัมพูชาจะทำเช่นเดียวกัน"

**"มาร์ค"ชี้ต้องถอนกำลังทั้ง2ฝ่าย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้ต้องให้ทุกฝ่ายยึดข้อตกลงที่มีระหว่างปี 2543 และถอยออกจากพื้นที่พิพาททั้ง 2 ฝ่ายให้คณะกรรมการเข้าไปสำรวจตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องใช้วิธีการเจรจาให้ถึงที่สุดให้ยึดถือข้อตกลงเดิม และไม่ว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร คนไทยย่อมมีเจตนารมณ์ตรงกันที่ต้องการรักษาสิทธิ ยึดสันติวิธี ดังนั้น รัฐบาลต้องทำเต็มที่ไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย หากถอนกำลังก็ต้องถอนทั้ง 2 ฝ่าย
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่านายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ต่างประเทศ จะมีความสามารถเพียงใดในการเจรจากับนายฮอร์ นัม ฮง รมว.ต่างประเทศของกัมพูชา ที่มีประสบการณ์อย่างยาวนานกว่า แต่ขณะที่นายสมพงษ์ ไม่มีประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ ซึ่งหากการเจรจาไม่สำเร็จนายสมพงษ์ ก็ต้องพิจารณาตัวเองด้วย ส่วนปฏิกิริยาของกัมพูชานั้นขณะนี้ตนมองว่าสะท้อนความล้มเหลวในการเจรจา
นายไกรศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการที่ตนได้พูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 2 พบว่าการเจรจาทางการทหารประสบผลสำเร็จมากกว่าการทูต เพราะมีการคุยกันและประกาศถอนกำลังกันฝ่ายละ 100 เมตรพร้อมกันทั้งสองฝ่าย แต่จู่ๆ ทางกัมพูชากลับออกมาประกาศให้ฝ่ายไทยถอนกำลังก่อน
"การกระทำของกัมพูชาเหมือนกับการประกาศสงคราม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในนับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา แต่หลังจากที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลนอมินีเข้ามาบริหารประเทศความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ ถึงขนาดทหารไทยต้องเดินเหยียบกับระเบิดขาขาถึง 2 คนทั้งๆ ที่กัมพูชาเป็นตัวตั้งตัวตีในการเข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาออโตวา ที่มีการห้ามวางกับดักระเบิดในเส้นทางที่มีการลาดตระเวร จึงสงสัยว่าเพราะเหตุใดเขมรจึงต้องมีการวางกับระเบิด อย่างน้อยแสดงให้เห็นว่าการทูตล้มเหลว แต่จะอาศัยทางทหารเพียงอย่างเดียว จะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาวแต่อย่างใด"
**ชี้แค่แผนหาเสียงของฮุนเซ็น
นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ทางกัมพูชาประกาศให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่บริเวณเขาพระวิหารว่า คณะกรรมาธิการฯ จะหารือกันในวันที่ 16 ต.ค.นี้เพื่อศึกษาถึงสภาพปัญหาโดยอาจจำเป็นต้องลงไปดูพื้นที่จริง จากนั้นจะทำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลต่อไป
ส่วนตัวเห็นว่านายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ต่างประเทศ จะสามารถพูดจาทำความเข้าใจกับกัมพูชาได้เพราะไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์กันยาวนาน และเชื่อว่า ผบ.เหล่าทัพ จะสามารถแก้ปัญหาได้ โดยต้องพูดคุยกำหนดแนวทางการรักษาเขตแดนให้ชัดเจน ไม่ควรปล่อยให้ต่างชาติละเมิดอธิปไตยไทย ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมาจากสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ต้องการหาเสียงกับชาวกัมพูชามากกว่า
ด้านนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.พิษณุโลก ประธานคณะกรรมธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังสามารถควบคุมได้ เนื่องจากไทยได้ถอยร่นเพื่อตั้งรับมากแล้ว ถือว่าไทยใจดีและอ่อนข้อให้มากแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยากให้โอกาสนายสมพงษ์ ทำงานในตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศไปก่อน เนื่องจากเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง และเพิ่งเริ่มเจรจากับกัมพูชาเพียงแค่ครั้งเดียว ดังนั้นหากนายสมพงษ์ ทำการบ้านมากกว่านี้ จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
ทั้งนี้ ตนอยากขอฝากความหวังไว้ที่นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ในการแก้ปัญหานี้ด้วย

**แค่แผนกลบข่าววิกฤติรัฐบาล
นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฏร กล่าวถึงกรณีกัมพูชาประกาศให้ไทยถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ทับซ้อนว่า ปัญหาเรื่องนี้คงไม่จบ รัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศ ไม่เคยแสดงเจตนาที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหา โดยเป้าหมายสุดท้ายคือ การเชื่อมโยงไปถึงผลประโยชน์ทางทะเล ที่มีมหาศาล ซึ่งที่ประชุมพรรคได้มีการหารือในเรื่องนี้ และเรียกร้องให้ รัฐบาล และกระทรวงต่างประเทศได้แสดงจุดยืนอย่างแข็งขัน ในการรักษาผลประโยชน์ของไทย รัฐบาลและกองทัพต้องออกมาชี้แจงว่า ทหารไทยได้มีการถอนกำลังจริงตามที่กัมพูชาออกมากล่าวอ้างจริงหรือไม่ เพราะยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากกองทัพ เนื่องจากรัฐบาลกัมพูชา ประกาศบุกประเทศไทยเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นก็มีการออกมายืนยันจากกัมพูชาว่า ไทยได้ถอนกำลังออกไปแล้ว และเป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะมีเบื้องหลัง เพราะท่าทีของรัฐบาลกัมพูชาไม่เคยแข็งกร้าว หรือว่าอาจจะมีเจตนาเพื่อให้เป็นข่าวใหญ่ เพื่อกลบข่าววิกฤติการเมืองในประเทศไทย ซึ่งทางทหารเป็นที่ทราบกันดีว่า ขีดความสามารถของกองทัพไทยเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงกัมพูชาที่ไม่สามารถจะต่อกร กับไทยได้ แต่ต้องมีอะไร ถึงกล้าออกมาขู่ เหมือนมีเจตนาอื่นแอบแฝงหรือไม่ ใครอยู่เบื้องหลัง
นายพีระพันธ์ กล่าวว่า เรื่องทีเกิดขึ้นไม่จบเพียงเท่านี้ หากรัฐบาลไทย กระทรวงต่างประเทศ และกองทัพ ไม่เข้าไปแก้ปัญหา ต่อไปจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ประเทศไทยอาจจะเพลี่ยงพล้ำในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และในเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากคู่เจรจาของไทยไม่มีความจริงใจ ที่กระทรวงต่างประเทศ และรัฐบาลไทยทราบดี และที่ผ่านมาการเจรจาไม่เคยได้ข้อยุติ แต่ก็ไม่มีเคยมีปัญหารุนแรงขนาดนี้ จึงถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ที่ต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ข้อยุติ
"เหตุการณ์นี้ถือว่ารุนแรงที่สุด ถึงขนาดขู่ว่าจะบุกประเทศไทย เหมือนกับตั้งใจให้เป็นข่าวใหญ่ หลังจากประเทศไทยมีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายใน เรื่องนี้ต้องทำให้เกิดความชัดเจน ในเรื่องการถอนกำลังหรือไม่ถอน ที่มีข่าวคลาดเคลื่อน รัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศต้องออมาชี้แจง เพราะการประกาศบุกไทย ถือว่ารุนแรงทางการทูตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ไทยยังนั่งยิ้มรับ ดังนั้นจึงควรออกหนังสือประท้วง และเรียกทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยมาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เรื่องนี้จึงไม่จบง่ายๆ หากกระทรวงต่างประเทศ และรัฐบาล วางกลยุทธ์ผิดพลาด ความเสียหายจะรุนแรงมากว่าปี 2505" นายพีระพันธ์กล่าว
รองประธานคณะกรรมการธิการทหารสภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่า ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ คณะกรรมาธิการทหารจะเชิญ ผบ.เหล่าทัพ ทั้งทัพบก ทับเรือ และ อากาศ มาชี้แจงและให้ข้อมูลถึงศักภาพ ขีดความสามารถ และความพร้อมของกองทัพไทยต่อการถูกกัมพูชาบุกได้อย่างไร และขาดแคลนอะไร เพื่อสอบถามถึงความพร้อมและแผนการรองรับที่จะเกิดขึ้น
มทภ.2 ลั่นพร้อมปะทะเขมร/ไม่ถอยแม้ก้าวเดียว-ประสานผู้ว่าฯเตรียมอพยพ ปชช.
มทภ.2 ลั่นพร้อมปะทะเขมร/ไม่ถอยแม้ก้าวเดียว-ประสานผู้ว่าฯเตรียมอพยพ ปชช.
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “มทภ.2” เปิดแถลงข่าวด่วนสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ลั่นพร้อมปะทะหากจำเป็นและการเจรจาไม่เป็นผล ยันไม่ถอนกำลังเด็ดขาด ระบุทหารพร้อมเต็มที่ในการรักษาอธิปไตยไทยยึดถือตามแผนที่ประเทศไทยไม่สามารถถอยได้แม้แต่ก้าวเดียว พร้อมประสานผู้ว่าฯเตรียมอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่เสี่ยงหากเกิดความรุนแรง ยอมรับสถานการณ์ล่าสุดน่าเป็นห่วง เผยประสานทัพฟ้าเตรียมพร้อมกำลังทางอากาศ และเชื่อปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาเชื่อมโยงกับปัญหาการเมืองภายในประเทศไทย เตือนปชช.เลี่ยงเข้าไปในพื้นที่แนวชายแดนหรือเดินทางไปกัมพูชาในช่วงนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น