อุบลราชธานี- 2 นักวิชาการ ชี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมีทางออก โดยเชิญผู้มีบารมีเปิดเวทีถกหาทางลง และทุกฝ่ายต้องยึดพระราชดำรัส ที่ในหลวงพระราชทานให้เมื่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อเลี่ยงการนองเลือด ชี้จุดเริ่มของเหตุการณ์ครั้งนี้คล้าย 14 ตุลา 2516 ที่รัฐยัดเหยียดข้อหากบฏให้แกนนำ หากเสียงปืนดังรัฐบาลพังแน่นอน
นายสุเชาว์ มีหนองหว้า อาจารย์ภาควิชาการปกครองท้องถิ่น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์ขณะนี้ ว่า ต้องหาคนที่มีบารมีและทุกฝ่ายให้ความเชื่อถือเป็นตัวกลางเปิดเวทีเจรจา ระหว่างรัฐบาลและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะที่ผ่านมาทั้ง 2 ฝ่าย มีจุดยืนต่างกันอย่างสิ้นเชิง
แต่ต้องมีการพูดคุยไม่ให้เกิดความรุนแรง ถ้าหากมีการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม จะเป็นโอกาสให้ทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถึงจุดนั้นรัฐบาลจะถูกบังคับให้ลาออก แต่สังคมไทยก็จะไม่ยอมรับ
“ขณะนี้รัฐบาลไม่ควรใช้มาตรการแข็งกร้าว เพราะการเข้าสลายการชุมนุมไม่ใช่ทำให้การชุมนุมเลิกไป แต่จะถูกกลุ่มผู้ชุมนุมกดดันด้วยวิธีอื่น ซึ่งขณะนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้วคือ การรถไฟแห่งประเทศไทยประกาศหยุดเดินรถทั่วประเทศ” ทางออกที่ดีที่สุดขณะนี้คือ ทั้ง 2 ฝ่ายมาพูดคุยเจรจาหาทางยุติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ด้าน พ.อ.ดร.วรสิทธิ์ เจริญพุฒ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงทางออกในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า ทุกฝ่ายต้องยึดสันติวิธี ใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหา เพราะปัญหาทุกอย่างมีทางออก และทุกคนควรยึดมั่นในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระราชทานให้ไว้ในวันที่ 17 พ.ค.2535 ซึ่งสื่อมวลชนได้นำมาเสนอในวันนี้อีก
สำหรับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเริ่มใช้อารยะขัดขืน โดยพนักงานการรถไฟแห่งประเทศประกาศหยุดงานทั่วประเทศ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องเข้าไปสร้างความเข้าใจกับพนักงาน เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาล ก็น่าจะคุยกันได้ว่าอย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อน
ส่วนปัจจัยหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล คือ การให้ประชาชนขึ้นรถไฟฟรี ไม่ใช่จะไม่เห็นใจคนจน แต่รัฐบาลน่าจะมีวิธีการที่ดีกว่านี้ เพราะการนั่งรถไฟฟรีไม่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระอะไร แต่รัฐบาลก็ได้ทำไปแล้ว
สำหรับกรณีการตั้งข้อหากบฏกับ 9 แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักวิชาการรายนี้ให้ความเห็นว่า หากไม่พบอาวุธปืนที่อ้างว่าตรวจยึดได้จากกลุ่มชายฉกรรจ์ที่บุกเข้าไปในสถานีโทรศัพท์เอ็นบีทีก็ไม่น่ามีปัญหา แต่อย่างไรการตั้งข้อหากบฏก็รุนแรงไป ส่วนรัฐบาลจะถอนข้อหากบฏออกหรือไม่นั้น ตอบไม่ได้ แต่ถ้าจำเหตุการณ์ 14 ตุลาปี 2516 ก่อนนองเลือดก็มีจุดเริ่มคล้ายกับเหตุการณ์ครั้งนี้
“เมื่อใดที่มีเสียงปืนดังขึ้นมา เมื่อนั้นรัฐบาลก็แพ้แน่นอน และเชื่อว่า เหตุการณ์ในเอ็นบีทีเป็นการจัดฉาก” นักวิชาการรายนี้ กล่าว