ศูนย์ข่าวศรีราชา – กมธ.คมนาคม วุฒิสภา สำรวจศักยภาพโครงข่ายระบบขนส่งในจังหวัดชลบุรี ก่อนประเมินผลเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาคมนาคม ในภาคตะวันออก เชื่อมโยงกับส่วนกลางอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อในอีก 20 ปีข้างหน้าหากไทยไม่จัดการระบบขนส่งทางน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อาจต้องจัดหาท่าเรือพาณิชย์แห่งใหม่แทนท่าเรือแหลมฉบัง เหตุปริมาณตู้สินค้าอาจเพิ่มจาก 4.5 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 34 ล้านทีอียูต่อปี
วันนี้ (18 ส.ค.) คณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ที่นำโดย นายจารึก อนุพงษ์ ประธานคณะกรรมาธิการ ได้นำคณะที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงข่ายระบบการคมนาคมทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อสำรวจเส้นทางขนส่งต่างๆ พร้อมทั้งรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาระบบขนส่งต่างๆ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และยังได้จัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อ “ความพร้อมในการพัฒนาการบริหารจัดการ และการบริการด้านโครงข่ายระบบขนส่งในเขตเมืองและการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก” ที่ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยมี นายประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมหัวหน้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้การต้อนรับ
นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง รองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ในฐานะวุฒิสมาชิกจังหวัดชลบุรี เผยว่า การนำ กมธ.ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี มีจุดประสงค์สำคัญที่ความต้องการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาระบบโครงข่ายการขนส่งในจังหวัดชลบุรี ที่จะเชื่อมโยงจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออก และยังมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่การเชื่อมต่อระบบขนส่งจากส่วนกลางเพื่อให้การพัฒนาระบบลอจิสติกส์ ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังจะชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นและความเร่งด่วน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วปานกลางเพื่อใช้ในการขนส่งคนและสินค้า เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่สิ้นเปลืองจากการขนส่งทางบก
ทั้งนี้ปัญหาที่พบว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาระบบโครงข่ายจากส่วนกลางมายังพื้นที่ภาคตะวันออกคือข้อมูลในการพัฒนาจากส่วนกลางมายังพื้นที่ไม่มีความชัดเจน ดังนั้น การนำคณะลงสำรวจพื้นที่จังหวัดชลบุรีซึ่งถือเป็นประตูสู่ภาคตะวันออก น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการกำหนดแผนพัฒนาระบบขนส่งในอนาคตที่จะสอดคล้องกันยิ่งขึ้น โดยวันพรุ่งนี้( 19 ส.ค.) จะนำคณะกรรมาธิการสำรวจเส้นทางรถไฟรางเดียวด้านหลังโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ที่ในอนาคตจะมีการพัฒนาเป็นรางคู่ เพื่อให้เห็นปัญหาการจราจรที่พบว่าปัจจุบันแค่เพียงมีรางเดียวยังทำให้การจราจรติดขัดเป็นเวลากว่าชั่วโมง เมื่อมีการเคลื่อนขบวนรถไฟ และหากพัฒนาเป็นรางคู่แล้วการจราจรในจุดนี้จะยิ่งวิกฤตยิ่งขึ้นหากไม่เร่งสร้างเส้นทางคร่อมทางรถไฟ
ขณะที่ นายประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวสนับสนุนแนวคิดในการพัฒนาโครงข่ายระบบรางของรัฐบาล ว่า มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะในจังหวัดชลบุรีและภาคตะวันออก ที่มีการขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันยังใช้การขนส่งทางบกที่มีต้นทุนสูง ดังนั้น หากพัฒนาเส้นทางรถไฟสำหรับขนคนและสินค้าได้จะทำให้ลดการสูญเสียงบประมาณในด้านต่างๆ ได้สูง
เชื่ออีก 20 ปี สินค้าเพิ่มเป็น 34 ล้านทีอียูต่อปี
นายจารึก อนุพงษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา กล่าวถึงการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งของไทยว่ามีความชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2546 ที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาระบบลอจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น โดยการจัดอันดับการแข่งขันในระบบขนส่งของไทยจาก 125 ประเทศ พบว่า อยู่ในอันดับที่ 30 และการขนส่งในไทยยังเป็นการขนส่งทางบกถึง 85% ที่สำคัญ ต้นทุนในการขนส่งถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ หากใน 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยยังไม่สามารถจัดระบบขนส่งทางน้ำอย่างมีประสิทธิ ภาพก็อาจจะต้องหาท่าเรือแห่งใหม่แทนท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เนื่องจากปริมาณตู้สินค้าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.5 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 34 ล้านทีอียูต่อปี
“หากการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำไม่เป็นรูปธรรม ก็จำเป็นจะต้องหาท่าเรือใหม่แน่ๆ ส่วนการขนส่งทางบกก็จะต้องเร่งพัฒนาเส้นทางหลักทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกและทั่วประเทศให้เป็นถนน 4 เลน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งทางบกให้เชื่อมต่อส่วนต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาเส้นทางเชื่อมอันดามันกับอ่าวไทย นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องพัฒนาระบบขนส่งทางรางในเส้นทางกว่า 2 พันกิโลเมตรให้มีคุณภาพและมาตรฐาน”
ส่วนการขนส่งทางอากาศ ขณะนี้มีการเติบโตขึ้นมาก และในอีก 20 ปีข้างหน้าก็คาดว่าประเทศไทยจะมีการขนส่งผู้โดยสารสูงถึง 119 ล้านคนต่อปี ดังนั้น การพัฒนาในส่วนนี้ก็คือการเพิ่มหลุมจอดในสนามบินหลัก และเพิ่มเส้นทางคมนาคมจากพื้นที่ต่างๆ สู่สนามบินหลักให้เพิ่มขึ้น โดยการเดินทางสำรวจเส้นทางขนส่งต่าง ๆในจังหวัดชลบุรี ส่วนหนึ่ง คือ การแสวงหาความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาการคมนาคมและการขนส่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน