เชียงราย - อธิบดีกรมสุขภาพจิตพบปี 2550 คนไทยผู้ฆ่าตัวตาย 3,756 คน คิดเป็นอัตรา 5.95 ต่อประชาการแสนคน แต่มีผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายรายใหม่ แต่ไม่สำเร็จมากถึง 15,540 ราย คิดเป็นอัตรา 24.68 ต่อประชากรแสนคน เพิ่มกว่าปี 49 หลังแนวโน้มปัจจุบันที่มีภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เปลี่ยนไปมาก
วันนี้ (7 ก.ค.) นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้จัดประชุมวิชาการ “การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 8” ณ โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จ.เชียงราย โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 300 คน เข้าร่วม
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ปี 2550 พบว่ามีผู้ฆ่าตัวตาย 3,756 คน คิดเป็นอัตรา 5.95 ต่อประชาการแสนคน ซึ่งอัตราฆ่าตัวตายของคนไทยลดลงต่อเนื่องในภาพรวม ซึ่ง 10 จังหวัดที่มีสถิติฆ่าตัวตายเสียชีวิตสูงสุด คือ จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.จันทบุรี จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.ระยอง จ.ตาก จ.ชลบุรี และ จ.แพร่
ส่วนผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายรายใหม่แต่ไม่สำเร็จมีจำนวน 15,540 ราย คิดเป็นอัตรา 24.68 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นกว่าปี 2549 ซึ่งผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายไม่สำเร็จพยายามทำซ้ำจำนวน 2,241 ราย หรือ ร้อยละ 14.42
สำหรับสาเหตุการฆ่าตัวตายมากสุดได้แก่ ปัญหาโรคประจำตัว เช่น โรคจิต โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โดยมีวิธีการแตกต่างกันไป รองจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และเรื่องการเมือง
โดยในระยะนี้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ประสบปัญหาเศรษฐกิจ น้ำมันแพง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเมือง ที่มีการชุมนุมประท้วง ทำให้ทั้งผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ที่รักษาความสงบ และประชาชนทั่วไปอาจเครียด บ้างก็อยากให้มองโลกในแง่ดี และทุกฝ่ายให้พยายามดูแลกันจะช่วยได้
สำหรับจังหวัดเชียงราย มีสถิติผู้ที่ฆ่าตัวตายมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจาก จ.พะเยา และ จ.ลำพูน อยู่ในอัตรา 8.54 ต่อประชากรแสน แต่สถิติผู้พยายามฆ่าตัวตายรายใหม่มีมาก ราว 800 ราย จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันแลคนใกล้ชิดอย่าให้เครียด ควรให้คำปรึกษาที่ดีต่อกัน และสื่อมวลชนควรเสนอข่าวการฆ่าตัวตายแบบระมัดระวัง ไม่ควรเสนอภาพผู้เสียชีวิต แต่หากจะเสนอข่าวให้เสนอปัญหาและทางแก้เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาเดียวกันกับผู้ประสบเหตุได้ชมเป็นอุทาหรณ์และมีทางออกให้ด้วย จะลดปัญหาได้ทางหนึ่ง