เชียงราย – สธ.ไทยนำสาธารณสุขมาเลย์ขึ้นเชียงราย วางแผนงานส่งเสริมสาธารณสุข 4 จังหวัดภาคใต้กับ 4 รัฐมาเลเซีย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ไฟใต้ ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกสังหารและทำงานลำบาก แต่ทุกฝ่ายยังมุ่งมั่นจะทำงานต่อไป ส่วนอธิบดีสาธารณสุขรัฐเปรัค พร้อมสานความร่วมมือที่มีกว่า 20 ปี
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (23 มิ.ย.) นายไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ดร.Haji Ahmad Razin Bin Dato Haja อธิบดีสาธารณสุข รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ของไทย, นายเดชรัฐ สิมศิริ รองผู้ว่าราชการ จ.ยะลา, นายแพทย์เทพนฤมิตร เมธนาวิน สาธารณสุข จ.เชียงราย และเจ้าหน้าที่มาเลเซีย ราว 200 คน ประชุม ณ โรงแรมเวียงอินทร์ จ.เชียงราย เรื่องความร่วมมือสาธารณสุขชายแดนไทย-มาเลเซีย (21 Thailand-Malaysia Boder Health Goodwill Committee Meeting 2008 )ระหว่าง 4 จังหวัดของไทย กับ 4 รัฐของมาเลเซีย คือ จ.ยะลา กับรัฐเปรัค, จ.นราธิวาส กับ รัฐกลันตัน, จ.สตูลกับรัฐเปอริส และ จ.สงขลากับ รัฐเคดาห์ เพื่อให้ประชาชนสองประเทศได้รับการดูแลสุขภาพดียิ่งขึ้น
นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความร่วมมือกันระหว่างไทย-มาเลเซีย มีมาตั้งแต่ปี 2502 มี 4 ด้าน ได้แก่ ด้านป้องกันและควบคุมโรค โดยเฉพาะโรคมาเลเรีย ไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ในแม่และเด็ก การควบคุมความปลอดภัยอาหารและยา การจัดบริการสาธารณสุขตามแนวชายแดนร่วมกัน และระบบการส่งต่อผู้ป่วย เนื่อจากประชาขนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยบางส่วนเดินทางไปประกอบอาชีพในประเทศมาเลเซีย และชาวมาเลเซียก็มักเดินทางมาท่องเที่ยวและประกอบกิจการในจังหวัดชายแดนใต้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยของทั้งสองประเทศได้รับการดูแลจากสถานพยาบาลในพื้นที่อย่างดี
ทั้งนี้ จากปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ตั้งแต่ พ.ศ.2505 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีข้อจำกัดในการดำเนินการควบคุมแก้ปัญหาสาธารณสุข โดยเฉพาะการควบคุมโรคติดต่อบางโรค เช่น โรที่เกิดจากยุง ได้แก่ มาเลเรียพบมีการระบาดในพื้นที่มากขึ้น ปี 2550 พบผู้ป่วยมาเลเรีย 12,478 ราย ไม่มีเสียชีวิต,จังหวัดยะลา มีผู้ป่วย 6,494 ราย สูงสุดในประเทศอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รองลงมาคือ จ.สงขลา มี 4,140 ราย, จ.นราธิวาส 1,312 ราย ส่วนโรคไข้เลือดออก พบผู้ป่วย 5,000 กว่าราย พบที่ จ.สงขลามากที่สุด 2,400 ราย, นราธิวาส 1,519 ราย, ยะลา 780 ราย
ส่วนโรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ในปี 2550 ที่ 4 จังหวัด พบผู้ป่วยเกือบ 50,000 ราย ไม่มีเสียชีวิต มากที่สุดที่ จ.สงขลา 23,153 ราย รองลงมือ นราธิวาส 9,942 ราย ซึ่งหลังจากมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน 2 ประเทศ มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารการระบาดของโรค ช่วยให้การควบคุมป้องกันโรคสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วโดยใช้งบประมาณในระบบปกติ
ส่วนอาหารและยาจะต้องร่วมมือกันเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหายาปลอม ยาตกมาตรฐาน รวมทั้งอาหารตกมาตรฐาน ซึ่งหากตรวจพบสามรถที่จะจัดการได้อย่างรวดเร็ว และครั้งหน้า ประเทศมาเลเซีย จะเป็นเจ้าภาพการสัมมนา
นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ ส่งผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่พอควร ที่ผ่านมาพบว่ามีเจ้าหน้าที่ถูกยิงเสียชีวิตบ้าง แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทุกคนก็ยังมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ โดยโรงพยาบาลชุมชนกว่า 40 แห่ง สถานีอนามัยกว่า 400 แห่งก็ยังเปิดได้ และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายพยายามดูแลเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเต็มที่
ดร.Haji Ahmad Razin Bin Dato Haja อธิบดีสาธารณสุข รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ความร่วมมือของไทย-มาเลเซีย มีมากว่า 20 ปี ซึ่งจะมีการร่วมมือกันต่อไปเชื่อว่าเกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งสองประเทศ