xs
xsm
sm
md
lg

จวก “หมัก” ห่วงแก้ รธน.ทำ “IMT-GT” สะดุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาญ ลีลาภรณ์
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ประธานหอฯ นครศรีธรรมราช นำทีมจวกรัฐบาลหวงงบพัฒนาเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงตัวเอง โวยเอกชนระดมสมองขับเคลื่อนพัฒนาใต้ในโครงการ IMT-GT ท้ายสุดเก็บเข้าลิ้นชัก งบไม่มางานไม่เดิน เหนื่อยใจตบมือข้างเดียวแต่รัฐบาลห่วงแต่แก้รัฐธรรมนูญ ชี้เอกชนใต้ต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนต่อไปอีกนาน ด้านที่ปรึกษาหอการค้าไทยชี้แม้จะมีการขยายความร่วมมือครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้แล้ว แต่ความตื่นตัวของภาคเอกชนในจังหวัดใหญ่ยังมีน้อย

ตั้งแต่ปี 2536 ที่โครงการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) ได้เกิดขึ้นตรงกับสมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มี ดร.ศุภชัย พาณิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้จับมือกับประเทศเพื่อนบ้านร่วมมือข้อตกลงทางการค้าเพื่อจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น ซึ่งเบื้องต้นอยู่ใน 5 จังหวัดของภาคใต้ตอนล่าง ทั้ง จ.สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ก่อนจะขยายครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ในปัจจุบัน

แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศบ่อยครั้ง กว่า 10 ปี ความก้าวหน้าของIMT-GT ประเทศไทยเกิดขึ้นจำกัดอยู่ในเวทีประชุมของสภาธุรกิจเอกชน ที่ไม่สามารถเกิดเป็นรูปธรรมได้ เพราะไร้ซึ่งการผลักดันงบประมาณในโครงการด้านต่างๆ จากภาครัฐ

นายจามร เจริญอภิบาล ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า แม้ว่าการประชุมของคณะกรรมการ IMT-GT ของไทยมีขึ้นประจำทุกเดือน หรือกรณีเร่งด่วนเพิ่มเป็น 2 ครั้ง ซึ่งทุกคนหมดค่าใช้จ่ายเดินทาง ค่าที่พัก และอาหารเป็นส่วนใหญ่โดยที่นโยบาย ที่ชงให้ภาครัฐสนับสนุนเป็นรูปธรรมกลับถูกเก็บเข้าลิ้นชักแทบทุกครั้ง ทำให้การทำงานของ IMT-GT กลายเป็นแบบขอไปที จัดงานเป็นครั้งคราวและไม่คืบหน้า และเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะให้ภาคเอกชนตบมือข้างเดียวก็ไม่ดังแน่ ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ควรจะลงมาทำความเข้าใจและติดตามความคืบหน้าให้โครงการเดินหน้าก็ไม่มี

“IMT-GT เป็นเรื่องระหว่างประเทศต้องใช้บุคลากรมีฝีมือเข้ามาช่วย ภาคใต้ก็ไม่ใช่ฐานเสียงของรัฐบาลมานานแล้ว ก็ต้องชะลอไปก่อน กลายเป็นว่าต่างคนต่างไป ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เคยระบุว่าจะมีการปัดฝุ่นเซาเทิร์นซีบอร์ดตอนเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ แต่ตอนนี้เงียบหายไป ตราบใดที่รัฐบาลยังแก้รัฐธรรมนูญไม่เสร็จ ปัญหาอื่นๆ ก็เป็นเรื่องเล็ก ไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบในภาคใต้ในจังหวัดชายแดนใต้ที่เสียชีวิตกันทุกวัน กระทบการท่องเที่ยว การลงทุน ภาคธุรกิจเอกชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก อย่าไปนึกถึงโครงการพัฒนาอื่นๆ เลย เพราะโครงการที่ผลักดันแล้วก็ถูกเก็บ โครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นก็ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน และโชคร้ายที่การเมืองในยุคนี้เป็นการทุ่มพัฒนาเฉพาะพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงให้แก่ตัวเอง” นายจามรกล่าวต่อว่า

ทั้งนี้ หากรัฐให้การสนับสนุนผลักดันความช่วยแหลือแล้ว จ.สงขลา ได้รับอานิสงส์ในกรอบความร่วมมือ IMT-GT เป็นลำดับแรก ซึ่งจะช่วยฉุดเศรษฐกิจในจังหวัดให้ดีขึ้นและช่วยเหลือจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่รอบข้างในระยะต่อไป โดยเฉพาะการเรียกความเชื่อมั่นในความปลอดภัยเข้ามาเป็นอันดับแรก และจะทำให้เกิดการลงทุน การท่องเที่ยว การส่งออก ซึ่งประโยชน์จากความร่วมมือนี้ย่อมอยู่กับทั้ง 3 ประเทศสมาชิก แต่ที่เห็นความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมนั้นถือว่ามาเลเซียมีมากที่สุด เพราะรัฐบาลเป็นผู้ผลักดันด้วยตัวเอง

ด้านนายชาญ ลีลาภรณ์ ที่ปรึกษาหอการค้าไทย กล่าวสอดคล้องกันว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนน้อย ความเป็นไปได้ของโครงการถดถอยลงเรื่อยๆ ซึ่งต่างจากความร่วมมือของทางประเทศมาเลเซียที่ให้ความสำคัญสม่ำเสมอเรื่อยมา และได้ประโยชน์จาก IMT-GT มากในหลายๆ เรื่องที่นำเสนอต่อที่ประชุมเวทีต่างๆ เพราะมีการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐมาขับเคลื่อนเอง

“ในระยะแรกที่เพิ่งก่อตั้ง มีความคึกคักเพราะรัฐบาลให้ความสนใจมาก และต่างประเทศก็มาร่วมมือกันอย่างแข็งขัน เมื่อรัฐบาลได้มอบหมายให้ ศอ.บต.เป็นตัวแทนหน่วยงานผู้ดูแลและมีการยุบ ศอ.บต.ในสมัยรัฐบาลภายใต้การบริหารประเทศโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดช่วงสุญญากาศ และเมื่อฟื้น ศอ.บต.อีกครั้ง ความสนใจก็พุ่งไปที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้เป็นส่วนใหญ่ การผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในจุดนี้จึงขาดหายไปด้วย” นายชาญ กล่าวและว่า

ดังเช่นโครงการด่านวังประจัน บ้านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ที่ท่าทีของรัฐไม่ได้มุ่งผลักดันให้ความสำคัญต่อประตูสู่ภาคใต้แห่งใหม่นี้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และมีเสียงอ้างว่าด่านแห่งนี้จะทำให้ไทยเสียประโยชน์ทางการค้า ทั้งที่ด่านแห่งนี้จะเป็นตัวผลักให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทะลักเข้าสู่สงขลามากขึ้น ด้วยจะลดความแออัดจากด่านสะเดา ซึ่งไม่มีความสะดวกสบายเพราะสถานที่คับแคบ ขาดระเบียบและไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งนับวันจะทำให้นักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์เอือมระอาและไม่อยากเดินทางเข้ามาเที่ยว แต่กลับกลายเป็นว่าฝ่ายประเทศมาเลเซียดำเนินการพัฒนาพื้นที่ฝั่งตนเองได้เกือบสมบูรณ์ เพื่อรอการเชื่อมเส้นทางกับฝ่ายไทยแล้ว

นายชาญ กล่าวต่อว่า ในส่วนพื้นที่ IMT-GT ที่ขยายครอบคลุม 14 จังหวัดในภาคใต้ เพื่อความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมและการท่องเที่ยวนั้น พบว่าความตื่นตัวร่วมมือของภาคเอกชนเองยังมีน้อย โดยเฉพาะจังหวัดในฝั่งอันดามันซึ่งมีการท่องเที่ยวเป็นจุดดึงดูด ทำให้เกิดการลงทุนสูงอยู่แล้ว ทั้งภูเก็ตที่ได้นักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์ จากยุโรปที่มีกำลังซื้อสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ควรจะเข้ามาร่วมเป็นแม่งานและเป็นเสียงหลักในการดึงความช่วยเหลือจากภาครัฐบ้าง แต่ก็ยังไม่มีบทบาทเท่าที่ควร ทำให้การขับเคลื่อนยังคงใช้ จ.สงขลา เป็นหลักเพื่อกระจายสู่จังหวัดอื่นๆ

“สิ่งที่น่าเห็นใจที่หาดใหญ่กำลังเผชิญ และพยายามจะป้องกันตัวเอง คือ ความไม่สงบที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังดีที่ก้าวออกมาได้อีกขั้นทำให้สถานการณ์เริ่มจะคลี่คลายขึ้น และหากเรายังคงเข้มแข็งอยู่เช่นนี้ ภายใน 2-3 ปี น่าจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่ระหว่างนี้รัฐบาลต้องทุ่มเทความสนใจให้มาก เพราะถ้าไม่มีใครมาหาดใหญ่แล้ว สถานการณ์ก็ยิ่งแย่ลุกลามไปยังจังหวัดอื่นๆ รัฐไม่ช่วยเราเลยก็เหมือนทิ้งโอกาสให้สูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะ IMT-GT ที่ภาคเอกชนช่วยผลักดันกันมานานและเชื่อมโยงการพัฒนาภาคใต้” นายชาญกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น