ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – สถานการณ์ท่องเที่ยวสงขลาไตรมาสแรกเริ่มสดใส ผู้ประกอบการมีกำลังใจสู้ต่อ ททท.เขต 1 ดันภาคเอกชนเปิดเส้นทาง “อีโก้ทัวร์” สงขลา-สตูล เจาะตลาดใหม่ยุโรป-ออสเตรเลีย ท่องวิถีชีวิต “โหนด-นา-เล” บนคาบสมุทรสงขลาเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ จ.สตูล ซึ่งจะมีการเปิดตัวออกบูทครั้งแรกในงาน TTM เมืองทองธานีเร็วๆ นี้ ภายใต้ความร่วมมือของ IMT-GT ที่ผลักดันเป็นปีทองการท่องเที่ยวโดยร่วมเชื่อมเส้นทางระหว่างไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ด้านภาคเอกชนผลักดันรัฐหนุนงบพัฒนาหาดใหญ่ไชน่าทาวน์ภาคใต้ตอนล่าง ปรับปรุงเมือง-สร้างกิจกรรมท่องเที่ยวดึงตลาดต่างชาติเชื้อสายจีน
จากไตรมาส 1 ของปี 2551 ซึ่งพบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.สงขลา มากขึ้นเมื่อเทียบกับ 4 ปีที่ผ่านมา โดยทั้งเทศกาลตรุษจีนและสงกรานต์ที่ผ่านมามีการประเมินเม็ดเงินที่จับจ่ายใช้สอยใน จ.สงขลา รวมไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาทแล้ว ซึ่งนอกจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเชื่อมั่นในความปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ยังมีความร่วมมือของ IMT-GT ที่มีการสานความร่วมมือของ 3 ประเทศผลักดันการท่องเที่ยวให้แข็งแกร่ง พร้อมกับกำหนดให้ปี 2008 นี้เป็นปีทองของการท่องเที่ยว และ จ.สงขลาตั้งเป้าว่าจะต้องมียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 30% หรือ 1,000,000 คนในปีนี้และเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ในปีถัดไป
นายประภาส อินทนปสาธน์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยว ภาคใต้เขต 1 (สงขลา-สตูล) เปิดเผยว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ มั่นใจในสถานการณ์ความปลอดภัยของ จ.สงขลา ทำให้เดินทางเข้ามามากขึ้น โดยนิยมเที่ยวสถานบันเทิงที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นศูนย์กลางกิจกรรมนันทนาการ อย่างไรก็ตาม ระยะหลังพบว่ามีกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบครอบครัวเข้ามามากขึ้นด้วย แต่บรรยากาศใน อ.หาดใหญ่ก็มีนักท่องเที่ยวเต็มเฉพาะวันหยุดและเทศกาลเท่านั้น จึงต้องพยายามดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในวันปกติให้ได้ โดยการหาจุดขายใหม่ๆ ในการท่องเที่ยว
โดย ททท.เขต 1 ซึ่งดูแลการส่งเสริมการท่องเที่ยวใน จ.สงขลาและสตูล ได้เล็งเห็นจุดแข็งภายใต้กรอบความร่วมมือของ IMT-GT ที่จะประสานการท่องเที่ยวในกลุ่ม 3 ประเทศให้มีความเข้มแข็งด้วยการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวของแต่ละประเทศให้เชื่อมต่อกัน โดยปีทองของการท่องเที่ยวนี้สงขลา-สตูลได้เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชีวิตหรืออีโก้ทัวริซึ่ม ซึ่งสามารถเปิดเส้นทางท่องเที่ยวรอบนอกตัวเมืองให้มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นจุดขายที่สามารถทำตลาดเชิงรุกกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป-ออสเตรเลีย ที่มีความชื่นชอบและอยากเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมไทยอีกด้วย
จากการนำผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวลงพื้นที่ใน อ.สิงหนคร บนคาบสมุทรสงขลาพบว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นแหล่องท่องเที่ยวใหม่ ภายใต้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน “โหนด-นา-เล” ซึ่งยังคงรักษาการประกอบอาชีพตาลโตนด ทำนา และประมงสืบต่อมาถึงปัจจุบัน ที่สะท้อนทั้งการใช้ชีวิต อาหาร วัฒนธรรมท้องถิ่น และผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจะเสนอแพกเก็จทัวร์นี้ในงาน TTM ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 มิถุนายน 2551 ณ อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี ซึ่งเป็นตลาดแลกเปลี่ยนและซื้อขายการท่องเที่ยวของไทยและเอเยนต์จากทั่วโลก
ทั้งนี้ เส้นทาง “โหนด-นา-เล” ของ จ.สงขลา จะเชื่อมต่อกับ จ.สตูล ซึ่งมีจุดเด่นทั้งการท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งบนบกและทะเล ซึ่งสามารถจัดกิจกรรมซอฟต์แอดเวนเจอร์ได้ ทั้งพายเรือ ล่องแก่ง เป็นต้น ก่อนที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้าพักที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และส่งเส้นทางการท่องเที่ยวต่อไปยังประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละประเทศกำลังอยู่ระหว่างการทำเส้นทางเชื่อมต่อกัน อันจะเป็นการสร้างกระแสการท่องเที่ยวของ 3 ประเทศที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้
“เชื่อว่าอีโก้ทัวริซึ่มจะสามารถเติมเต็มการท่องเที่ยวให้แก่สงขลา-สตูลเป็นอย่างดี อย่างสงขลาก็จะมีเส้นทางท่องเที่ยวใหม่เป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวกลุ่มเดิม และเจาะตลาดใหม่เพื่อผลักดันให้สงขลามีความคึกคักตลอดทั้งสัปดาห์ ขณะที่สตูลเองก็ขายธรรมชาติบนบกได้ตลอดทั้งปี เพราะหากพึ่งพิงแต่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลนั้นจะขายได้เพียงปีละ 8 เดือนเท่านั้น และหากมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากก็ยังมีสงขลารองรับด้านที่พักซึ่งมีห้องพักกว่า 10,000 ห้อง และภายหลังจากที่มีการโปรโมตร่วมกันทั้ง 3 ประเทศก็จะเป็นที่สนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จักมากขึ้น นอกเหนือจากที่รู้จักภูเก็ต อันดามันที่อยู่ใกล้กับสงขลา-สตูล” นายประภาส กล่าว และว่า
นอกจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันยังต้องพัฒนาความพร้อมด้านบุคลกรของแหล่งท่องเที่ยว และผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวต้องมีมัคคุเทศก์ที่มีความเข้าใจในการท่องเที่ยวอีโก้ทัวริซึ่มเพื่อการถ่ายทอดที่ลึกซึ้งและถูกต้อง ซึ่งมีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยุโรปและออสเตรเลียเป็นหลักที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย โดยการเสพข้อมูลพร้อมกับการท่องเที่ยว แตกต่างจากการนำเที่ยวในกลุ่มมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่โปรดปรานกิจกรรมนันทนาการ ชอปปิ้ง และลิ้มลองอาหารซึ่งอยู่ภายในตัวเมือง
ด้านนายสมชาติ พิมพ์ธนะพูนพร นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา เปิดเผยว่า ถึงเวลาที่ จ.สงขลา ต้องพัฒนาการท่องเที่ยวและหาจุดขายใหม่ๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง แต่หาดใหญ่ก็ยังเป็นเมืองหน้าด่านของประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องเดินทางเข้ามาพักค้างคืนในวันแรกก่อนจะเดินทางออกนอกเมืองสู่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ทั้งในสงขลาและต่างจังหวัด และแวะพักค้างคืนอีกครั้งก่อนเดินทางกลับประเทศ
ทั้งนี้ รัฐต้องพัฒนาเมืองหาดใหญ่ให้กลายเป็นไชน่าทาวน์ของภาคใต้ตอนล่าง ทั้งในด้านภูมิทัศน์ และแหล่งท่องเที่ยวให้ดึงดูด เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเชื้อสายจีนที่เดินทางมาร่วมเทศกาลตรุษจีนและต่อเนื่องไปจนถึงเทศกาลท่องเที่ยวอื่นๆ สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่หลงใหลรสชาติอาหารจีน ไทย และชอบกิจกรรมนันทนาการ ความสะดวกสบายซึ่งเป็นจุดเด่นและจุดขายของหาดใหญ่ เชื่อมโยงกับเกาะยอที่เป็นแหล่งรวมอาหารทะเล รวมถึงเที่ยวชมตัวเมืองสงขลาที่เคยเป็นที่ตั้งเมืองในอดีต และเป็นถิ่นฐานของคนจีนในยุคแรกที่เข้ามาค้าขาย รวมถึงล่องเรือชมเกาะหนู เกาะแมวสัญลักษณ์ของ จ.สงขลา และชมทัศนียภาพของแหลมสมิหลาซึ่งเป็นกิจกรรมใหม่ที่เป็นกิจกรรมเสริมการท่องเที่ยว
สำหรับ จ.สงขลาปี 2550 มีผู้มาเยือน 2,645,770 คน เพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 2.57 สร้างรายได้ให้แก่จังหวัด 12,842.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 แต่มีการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 2,435.99 บาท/วัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.67