xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-มาเลย์จับมือขจัดโรคระบาดตามแนวชายแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา จัดประชุมความร่วมมือสาธารณสุขชายแดนไทย-มาเลเซีย ระหว่าง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประเทศไทย กับ 4 รัฐประเทศมาเลเซีย เน้นความร่วมมือ 4 เรื่องใหญ่ได้แก่ การควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ เช่น มาลาเรีย ซึ่งยะลามีผู้ป่วยสูงอันดับ 1 ในประเทศในปี 2550 เป็นผลจากความไม่สงบในภาคใต้ รวมทั้งการควบคุมความปลอดภัยอาหารและยา การจัดบริการสาธารณสุขและระบบการส่งต่อผู้ป่วย

นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมความร่วมมือแก้ไขปัญหาสาธารณสุขแนวชายแดนไทย-มาเลเซียครั้งที่ 21 (21th Thailand–Malaysia Border Health Goodwill Committee Meeting 2008) ระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 4 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย สงขลา ยะลา สตูล นราธิวาส กับคณะผู้บริหารและทีมงานสาธารณสุขของรัฐเปรัค เปอริส เคดาห์ และรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจัดประชุมระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2551 ที่โรงแรมเวียงอินท์ จังหวัดเชียงราย ว่า ประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย มีการประชุมความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ปี 2502 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขตามแนวชายแดน ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่อยู่ติดกัน คือ รัฐเปรัค กับจังหวัดยะลา รัฐกลันตันกับจังหวัดนราธิวาส รัฐเปอริสกับจังหวัดสตูล และรัฐเคดาห์กับจังหวัดสงขลา ซึ่งทำให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศได้รับการดูแลสุขภาพดียิ่งขึ้น

นายแพทย์พิพัฒน์ กล่าวว่า ในปีนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยเน้นความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ การป้องกันและควบคุมโรค โดยเฉพาะโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก อุจจาระร่วง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเอดส์ในแม่และเด็ก การควบคุมความปลอดภัยอาหารและยา การจัดบริการสาธารณสุขตามแนวชายแดนร่วมกัน และระบบการส่งต่อผู้ป่วย เนื่องจากประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้บางส่วนเดินทางไปประกอบอาชีพในประเทศมาเลเซีย และชาวมาเลเซียก็มักเดินทางมาท่องเที่ยวและประกอบกิจการในจังหวัดชายแดนใต้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ทำให้ไทยมีข้อจำกัดในการดำเนินการควบคุมแก้ปัญหาสาธารณสุข โดยเฉพาะการควบคุมโรคติดต่อบางโรค เช่น โรคที่เกิดจากยุง ได้แก่ โรคมาลาเรีย พบมีการระบาดในพื้นที่นี้มากขึ้น ในปี 2550 พบผู้ป่วยทั้งหมด 12,478 ราย ไม่มีเสียชีวิต จังหวัดยะลามีผู้ป่วย 6,494 ราย สูงที่สุดในประเทศอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รองลงมาคือ สงขลา 4,140 ราย นราธิวาส 1,312 ราย ส่วนโรคไข้เลือดออก พบผู้ป่วย 5,000 กว่าราย ที่สงขลามากที่สุด 2,400 ราย นราธิวาส 1,519 ราย ยะลา 780 ราย

สำหรับโรคอุจจาระร่วง ที่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ในปี 2550 ที่ 4 จังหวัดพบผู้ป่วยเกือบ 50,000 ราย ไม่มีเสียชีวิต มากที่สุดที่สงขลา 23,153 ราย รองลงมาคือ นราธิวาส 9,942 ราย ซึ่งหลังจากมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้ง 2 ประเทศ มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารการระบาดของโรค ช่วยให้การควบคุมป้องกันโรคสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้นและรวดเร็ว โดยใช้งบประมาณในระบบปกติ ส่วนอาหารและยาจะต้องร่วมมือกันเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหายาปลอม ยาตกมาตรฐาน อาหารตกมาตรฐาน ซึ่งหากตรวจพบสามารถจัดการได้อย่างรวดเร็ว โดยการประชุมครั้งต่อไป มาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพ นายแพทย์พิพัฒน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น