xs
xsm
sm
md
lg

ม.อุบลฯจับตาการเมืองสหรัฐเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - กลุ่มนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง ระดมสมองจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ เพราะส่งผลต่อท่าทีการเมืองทั่วโลกและประเทศไทย โดยเน้นใช้เป็นกรณีศึกษารื้อระบบอุปถัมภ์-ซื้อเสียงของนักการเมืองไทยในอนาคต

วานนี้(14 มิ.ย.) ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงการจัดทำโครงการสหรัฐอเมริกาศึกษา เพราะการเมืองของประเทศสหรัฐมีผลกระทบถึงความเป็นอยู่ ระบบเศรษฐกิจ และการเมืองทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 4 พ.ย.ศกนี้ ทั่วโลกจะเห็นทิศทางการเมืองใหม่ของสหรัฐ ภายใต้การนำของผู้นำคนใหม่ของประเทศนี้

สิ่งที่นักวิชาการให้ความสนใจการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากนายจอห์น แมคเคน จากพรรครีพับลิกัน และนายบารัก โอมาบา ของพรรคเดโมแครต ไม่ได้เป็นผู้สมัครที่กำลังอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดี ทั้งที่อดีตตั้งแต่ปี ค.ศ.1928 หรือประมาณ 80 ปีที่ผ่านมา ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐจะอยู่ในตำแหน่งเหล่านี้มาก่อน จึงมีนัยสำคัญในการแข่งขันครั้งนี้อย่างยิ่ง

สำหรับประเด็นที่นักวิชาการและนักศึกษาสนใจจับตาดูการสมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคราวนี้ก็คือ บทบาทเรื่องสีผิวและเชื้อชาติ เพราะนายบารักเป็นคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน หรือคนสีผิวในอเมริกา จะมีอิทธิพลต่อการลงคะแนนในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ รวมทั้งนโยบายต่างประเทศของผู้สมัคร ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นคงในภูมิภาคทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง เพราะผู้สมัครแต่ละคนมีนโยบายต่อต่างประเทศแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ดร.ฐิติพล กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการศึกษาการเมืองของสหรัฐ ก็เพื่อนำมาเป็นข้อเปรียบเทียบกับการเมืองในประเทศไทย เพราะคนอเมริกันสนใจว่า วุฒิสมาชิก หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ตนเองเลือกเข้าไปทำหน้าที่ออกเสียงในสภา ได้มีการโหวตออกเสียงรับรองกฏหมายสำคัญใดบ้าง แต่การเมืองของไทยผู้ออกเสียงไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ ตรงข้ามกลับให้ความสนใจคนที่เป็นผู้แทนมาช่วยหรือมาร่วมงานตามท้องถิ่นในเรื่องใดบ้าง

"ถ้ามีการศึกษาแบบนี้ จะทำให้คนเริ่มตื่นตัวมาปกป้องเรื่องสิทธิประโยชน์ของสังคม ลดปัญหาระบบอุปถัมภ์ และการซื้อเสียงในระบบการเมืองไทยลงได้"

ด้าน รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการสหรัฐอเมริกาศึกษา กล่าวถึงนโยบายของนายจอห์น แมคเคน จากพรรครีพับลิกันให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การเอื้อประโยชน์ระหว่างสังคมอเมริกันกับโลกภายนอกเหมือนกับนโยบายของนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ส่วนนายบารัก โอมาบา ของพรรคเดโมแครต มีนโยบายคล้ายกับนายบิล คลินตัน คือ อนุรักษ์นิยม มีการกีดกันทางการค้า ให้ความสำคัญภาคแรงงานในและนอกประเทศ

จากทิศทางนโยบายของผู้สมัครประธานาธิบดีของสหรัฐทั้ง 2 คน ที่มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง จึงมีความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศต่างๆทั่วโลกของประเทศสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยต้องมีการศึกษาความเป็นไปของการเมืองสหรัฐ เพื่อนำมาใช้กำหนดทิศทางท่าทีของไทยต่อไปในอนาคต

รศ.ดร.ฐิตินันท์ ยังให้ความเห็นต่อการทำโพลล์ที่ระบุว่า คนอเมริกันที่ให้การสนับสนุนนางฮิลลารี คลินตัน เมื่อคราวลงสมัครเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรคเดโมแครตกับนายบารัก โอมาบา ราว 17% จะไม่ลงคะแนนเลือกนายบารักในการลงคะแนนวันที่ 4 พ.ย.นี้ว่า ไม่ใช่คนทั้ง 17% จะหันไปลงคะแนนให้นายจอห์น แมคเคน ของพรรครีพับลิกัน แต่คนเหล่านี้จะนอนอยู่กับบ้านเฉยๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่นายบารักก็ทราบ และกำลังหาหนทางปรับกลยุทธ์ เพื่อดึงฐานเสียงกลุ่มนี้กลับมาลงคะแนนให้นายบารักสามารมีชัยชนะเหนือนายจอห์น แมคเคน คู่แข่งต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น