xs
xsm
sm
md
lg

สารพัดปัญหารุมเอื้ออาทร “บ้านแม้ว” - เคหะฯ ลอยแพ 700 ครอบครัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการบ้านเอื้ออาทรสันกำแพงเกิดสารพัดปัญหาที่การเคหะฯไม่เหลียวแล
เชียงใหม่ – บ้านเอื้ออาทรสันกำแพงเชียงใหม่วุ่น บ้านชำรุด-สาธารณูปโภคไม่ได้มาตรฐาน ไร้หน่วยงานแก้ไขร่วม 2 ปี ชี้ทำสัญญาเอาเปรียบผู้อยู่อาศัย-ดอกเบี้ยโหด-ยึดบ้านไล่ออกภายใน 30 วัน-ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า หวั่น 700 ครอบครัวโดนลอยแพ จี้การเคหะฯเร่งสางปัญหาด่วน

โครงการบ้านเอื้ออาทร จังหวัดเชียงใหม่มีทั้งในรูปแบบของอาคารชุด บ้านเดี่ยว และบ้านแฝด รวมทั้งสิ้น 4,000 กว่ายูนิต ทั้งหมด 9 โครงการ เพื่อตอบสนองความต้องการมีบ้านของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ขณะนี้เริ่มมีปัญหาหลายด้านภายหลังการก่อสร้างเสร็จและส่งมอบบ้านไปแล้ว โดยเฉพาะโครงการบ้านเอื้ออาทรสันกำแพง ที่เป็นบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด จำนวน 1,327 ยูนิต ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ในเขตบ้านปูคา-แม่โฮม ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้อยู่อาศัยบ้านเอื้ออาทร สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ประสบปัญหาข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ได้เข้าร่วมเวทีเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกันกับการเคหะแห่งชาติโดยมีสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีสาธารณะ ร่วมกันแก้ไขปัญหา สู่ทางออกบ้านเอื้ออาทร เชียงใหม่ ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งประชาชนที่อาศัยในบ้านเอื้ออาทร สันกำแพง เชียงใหม่ ตัวแทนจากสำนักงานการเคหะชุมชนเชียงใหม่ ตัวแทนจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนา

ชี้สัญญาเอาเปรียบ ปชช.- ยึดบ้านไล่ออกใน 30 วัน


นายอุทิศ เสือหนู ผู้อยู่อาศัยในบ้านเอื้ออาทรสันกำแพง กล่าวในวงเสวนาว่า เมื่อต้นปี 2551 มีหนังสือจากสำนักงานเคหะชุมชนเชียงใหม่ถึงผู้ซื้อบ้าน 39 ราย บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน โดยระบุว่าผิดนัดชำระค่างวดบ้าน และให้ย้ายออกจากบ้านภายใน 30 วัน เมื่อสอบถามไปยัง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สาขาเชียงใหม่ และขอชำระหนี้ ได้รับคำตอบว่าถูกยกเลิกสัญญา และการเคหะฯซื้อบ้านคืนไปแล้ว และเมื่อไปติดต่อสอบถามต่อการเคหะฯก็ไม่สามารถทำได้ เพราะถูกยกเลิกสัญญา

“จู่ๆ ชาวบ้านก็ได้รับหนังสือให้ย้ายออกภายใน 30 วันหากไม่ย้ายออกโดนปรับวันละ 100 บาท เมื่อตรวจสอบกลับพบว่า เป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ซื้อบ้านที่นับวันชำระเงินผิด ขณะที่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าครบในวันสิ้นเดือน ทำสัญญากู้วันที่ 19 ธันวาคม 2549 จะต้องครบกำหนดชำระเดือนแรกในวันที่ 19 มกราคม 2550 ลูกค้าไม่เข้าใจจึงนำเงินไปชำระในวันสิ้นเดือน มกราคม ก็ถือว่าผิดนัดชำระไปแล้ว 1 งวด และเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัด 13.5% ทันทีจากเดิมที่เก็บ อัตราดอกเบี้ยคงที่ใน 3 ปีแรก ร้อยละ 5.5, 6 และ 6.5 ต่อปี” นายอุทิศกล่าว

ขณะที่นายอภิชัย มัทวพันธุ์ หนึ่งในผู้อาศัยบ้านเอื้ออาทร กล่าวว่า เป็นการรังแกประชาชนอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสัญญาที่การเคหะแห่งชาติได้ตกลงกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งไม่เปิดเผยให้ทราบ มายึดบ้านคืนจากประชาชนที่ขาดส่งเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มจาก 6.5% เป็น 13.5% ซึ่งพยายามขอไกล่เกลี่ยแต่การเคหะฯกลับไม่ยอม สุดท้ายต้องนำค่างวดไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ภูมิภาคฯ และเข้าแจ้งตำรวจบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าได้พยายามหาทางชำระหนี้แล้ว

“ไม่มีคำพูดไหนจะแทนได้นอกจากคำว่าคนจนไม่มีสิทธิ์ เพราะถูกเอารัดเอาเปรียบจากหน่วยงานของรัฐที่ปกปิดข้อมูลการตกลงร่วมกันของธนาคารนำมาสู่การขึ้นดอกเบี้ยมหาโหด ที่คนจนต้องแบกรับด้วยความที่ไม่เห็นสัญญาและรู้เท่าไม่ถึงการณ์” นายอภิชัย กล่าว

สำหรับเรื่องดังกล่าว นางสาวกัญชัช ทองดีแท้ หัวหน้าสำนักงานการเคหะชุมชนเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับเรื่องสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเป็นความเข้าใจผิดของธนาคารที่ปิดบัญชีซื้อคืนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 จำนวน 39 ราย ขณะนี้ได้เปิดให้ผู้ซื้อรายเดิมกลับมาผ่อนชำระใหม่จำนวน 34 ราย คงเหลือแต่ผู้ที่ขาดส่งจริงเพียง 5 รายเท่านั้น ส่วนราคาขายผู้ซื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็นนโยบายของการเคหะแห่งชาติ ประกอบกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ตรวจสอบแล้วว่าผู้ซื้อบ้านเอื้ออาทร ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวนมากเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นการรวมดอกเบี้ยในระยะ 5 ปีแรกที่ลูกค้าผ่อนชำระกับการเคหะแห่งชาติ

บ้านชำรุด-สาธารณูปโภคไม่ได้มาตรฐาน

นายกำพล ตัวแทนชาวบ้านเอื้ออาทรสันกำแพง กล่าวว่า ไม่เฉพาะแต่เรื่องของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น ปัจจุบันบ้านเอื้ออาทรสันกำแพงมีประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยประมาณ 700 ครอบครัว จากทั้งหมด 1,327 ยูนิต ซึ่งมีปัญหาหลายด้านเริ่มตั้งแต่วันที่รับมอบบ้านในปี 2549 เช่น โครงสร้างของบ้านที่ไม่แข็งแรงเสามีขนาดเล็ก กระเบื้องหลังคาแตกร้าว เวลาฝนตกจะมีน้ำรั่วซึมออกมาตลอดเวลา

นอกจากนี้ ชายคาบ้านบางหลังหดสั้นลงทำให้ฝนสาดเข้าบ้าน ส่วนสายไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน มีการผูกมัดติดไว้กับโครงเหล็กหลังคา บางหลังมีไฟรั่วตลอดเวลา รวมทั้งห้องน้ำไม่ได้มาตรฐาน ท่อระบายน้ำอยู่รวมกันและบ้านบางหลังเกิดรอยแตกร้าวและทรุดตัวลงไป

ทั้งนี้ ตนได้แจ้งไปยังบริษัทที่เข้ามาบริหารโครงการบ้านเอื้ออาทรสันกำแพง จนเวลาล่วงเลยเกือบ 2 เดือน ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมทั้งบริษัทดังกล่าวยังอ้างว่า หมดช่วงระยะเวลาประกัน ทำให้ชาวบ้านที่บ้านชำรุด 200 กว่าหลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

“ชุดแรกประมาณ 300 ครอบครัวเข้ามาอยู่วันที่ 2 ธันวาคม 2549 เป็นวันแรกที่รับกุญแจ แต่บางรายเข้าอยู่ไม่ได้เนื่องจากสภาพบ้านตั้งแต่พื้นบ้าน ตัวอาคาร หลังคาชำรุดหลายแห่ง ซึ่งแจ้งไปยังเจ้าของโครงการเพื่อแก้ไข ก็ต้องรอนานแรมเดือน หลายคนต้องแก้ไขเองตามอัตภาพ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย บางส่วนได้รับการแก้ไขบางจุดเท่านั้นซึ่งบัดนี้ล่วงเลยมาเกือบ 2 ปี หลายหลังยังไม่ได้รับการแก้ไขเลย” นายกำพล กล่าว

ด้าน นายอุทิศ เสือหนู ชาวบ้านที่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรสันกำแพง กล่าวว่า อยากให้การเคหะแห่งชาติเข้ามาดูแลปัญหาอย่างจริง เพราะตั้งแต่ พ.ศ.2549 ที่ส่งมอบบ้านแล้วเสร็จ จนถึงทุกวันนี้ เป็นระยะเวลา 2 ปี ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยังคงอยู่โดยเฉพาะบ่อบำบัดนำเสียที่ใช้งานไม่ได้ ตั้งแต่เปิดโครงการจนถึงทุกวันนี้ยังใช้งานไม่ได้ รวมทั้งท่อระบายน้ำของหมู่บ้านซึ่งหากเป็นช่วงฤดูฝนน้ำจะไม่ไหลแต่จะล้นเอ่อทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้นมา

“สิ่งที่อยากฝากถาม คือ โครงสร้างของบ้านที่เหล็กเส้นเล็ก และฝาท่อระบายที่ไม่มีเหล็กเป็นโครงสร้างเป็นเพียงปูนธรรมดาเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ดังนั้น อยากให้ตรวจสอบด้วยว่าการก่อสร้างได้ตรงตามสเปกหรือไม่” นายอุทิศ กล่าว

จี้ปรับระบบบริหารจัดการ หวั่นละลายงบกว่า 2 ล./ปี

นายอภิชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการเคหะฯ ได้ให้บริษัทเข้ามาบริหารจัดการโครงการบ้านเอื้ออาทรสันกำแพง ตั้งแต่ปี 2549 จนถึง ปี 2551 ทั้งสิ้น 3 ราย โดยบริษัทเชียงรายเบญจพล บริหารปี 2549 ถึง ปี 2550 จากนั้นเป็นบริษัทชาญชนะดีไซต์ เข้ามารับช่วงต่อในปี 2550 แต่ด้วยการบริหารที่ไม่ได้ประสิทธิภาพทำให้การเคหะฯบอกเลิกสัญญา และว่าจ้างบริษัททองธนพล เข้ามาบริหารต่อและหมดสัญญาวันที่ 31 พฤษภาคม 2551

นายอภิชัย กล่าวต่ออีกว่า การเคหะฯได้จ่ายเงินอุดหนุนเป็นค่าบริหารจัดการแก่บริษัทเหล่านี้เป็นเงิน 180 บาทต่อยูนิต ต่อเดือน รวมเป็นเงิน 200,000 กว่าบาทต่อเดือน หรือประมาณ 2 ล้านกว่าบาทต่อปี ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัท ทองธนพล ได้หมดสัญญาลงตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2551 และการเคหะฯได้จัดตั้งสหกรณ์บริการบ้านเอื้ออาทรเชียงใหม่ (สันกำแพง) จำกัด ขึ้นมาบริหารโครงการบ้านเอื้ออาทรต่อโดยให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในโครงการทั้งหมดเข้าร่วมเป็นสมาชิกต้องจ่ายเงินค่าสมาชิก อีกทั้งมีแนวคิดเรียกเก็บเงินค่าส่วนกลางด้วย ซึ่งตนมองว่าไม่ยุติธรรมสำหรับชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ

“จากที่การเคหะฯ ได้ให้งบประมาณสหกรณ์ ในการบริหารจัดการต่อยูนิตละ 180 บาท ต่อเดือนอยู่แล้ว หากมาเรียกเก็บค่าสมาชิกและเก็บค่าส่วนกลางอีก ก็จะไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน ถึงแม้ว่าจะเป็นเงินไม่มากแต่ที่นี่เป็นบ้านเอื้ออาทรสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะเป็นการเอาเปรียบคนจนอย่างเห็นได้ชัด” นายอภิชัยกล่าว

ขณะที่ นายอุทิศ กล่าวว่า นอกจากนี้การเคหะฯยังเรียกเก็บเงินค่าทำเลบ้านอีกหลังละ 10,000-26,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าบ้านหลังดังกล่าวอยู่บริเวณใดของโครงการ ซึ่งของตนอยู่กลางซอยต้องเสียค่าทำเลถึง 10,000 บาท ซึ่งความเป็นจริงไม่น่าจะเสียเพราะบางรายไม่ได้เป็นคนเลือกทำเล โดยการเคหะฯจะสุ่มเลือกให้ ดังนั้นการเก็บเงินดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้องมากนัก

“เงินค่าทำเล 10,000 บาท ถามว่าทำไมต้องจ่ายเพราะชาวบ้านไม่ได้เลือกทำเลเอง แต่อย่างไรก็ตามพบว่ามีการนำบ้านเดี่ยวที่อยู่ติดกัน 2 หลัง ต่อเติมเป็นบ้านหลังเดียว และมีเจ้าของเป็นคนเดียวกัน ซึ่งไม่ทราบว่ามาได้อย่างไรเพราะในการเลือกบ้านจะใช้วิธีการสุ่มรายชื่อ ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาบางส่วนที่การเคหะฯ ต้องเข้ามาแก้ไข” นายอุทิศกล่าว

นายอุทิศ กล่าวต่ออีกว่า นโยบายบ้านเอื้ออาทร ในสัญญาได้ระบุไว้ชัดเจนว่า เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่ทำไมการเคหะฯจึงดำเนินการตรงกันข้าม ทั้งสัญญาที่ทำกับผู้เช่าซื้อ การซื้อสิทธิ์ขายสิทธิ์ การซื้อได้คนละกี่หลัง ซึ่งในอนาคตยังไม่มั่นใจว่า ผู้อยู่อาศัยบ้านเอื้ออาทรจะไม่เดือดร้อนและโดนเอารัดเอาเปรียบอีก

สำหรับบ้านเอื้ออาทร สันกำแพง เชียงใหม่ ดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินอุดหนุนยูนิตละ 80,000 บาท คงเหลือราคาขายเป็นเงินจำนวน 390,000 บาท

แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น พื้นที่ไม่น้อยกว่า 21 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 53.25 ตารางเมตร บ้านแฝด 2 ชั้น ในที่ดินไม่น้อยกว่า 21 ตารางวา พื้นที่ใช้สอยรวม 54.60 ตารางเมตร ชำระเงินผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ภายใต้โครงการสินเชื่อโครงการบ้านเอื้ออาทร
ระบบบ่อบำบัดที่ใช้งานไม่ได้ตั้งแต่เริ่มต้น
บ้านเอื้ออาทรสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ แต่มีการเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เหมือนอยู่คอนโดฯของผู้มีอันจะกิน
กำลังโหลดความคิดเห็น