xs
xsm
sm
md
lg

2 ปีแก้จน “อาจสามารถ” คว้าน้ำเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เส้นทางเข้า อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด
รายงานพิเศษ ย้อนรอย...แก้จนอาจสามารถตอนที่ 1

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ย้อนรอยเรียลิตี้แก้จน “อำเภออาจสามารถ” ของ “ทักษิณ” ล่วงผ่านไปกว่า 2 ปี ชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ต้นแบบแก้จนยังคงเหมือนเดิม เหลือแต่คนชราเลี้ยงหลาน ขณะวัยหนุ่มสาวต้องทิ้งนาขายแรงกรุงเทพฯ ขณะที่เงินอัดฉีด SML ไม่ได้ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ยังตั้งหวังไว้กับเงินให้เปล่าก้อนใหม่

“ภายใน 1 ปี จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างชัด เรามีเวลา 3 ปี ที่จะต้องทำอย่างเข้มข้น จะต้องมีการติดตามรอบ 2 รอบ 3 เพื่อให้มั่นใจ” นี่คือคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะลงพื้นที่สาธิตแก้ปัญหาความยากจนที่อำเภออาจสามารถ เมื่อปี 2549 ที่ทำให้ชื่อของอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด กลายเป็นสัญลักษณ์ หรือโมเดลแก้จน ที่รู้จักกันทั่วประเทศ

2 ปี หลังจากได้รับการสาธิตแก้จนจากอดีตผู้นำประเทศและหน่วยงานราชการ ณ วันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอาจสามารถเป็นอย่างไร มีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ ทีมข่าว “ผู้จัดการรายวัน” ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน พบว่า แม้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะเหมือนเดิม อาชีพหลักคือทำนา เหลือแต่คนเฒ่าคนแก่เลี้ยงหลาน ขณะที่คนวัยหนุ่มสาวที่ไม่ได้เรียนต่อก็ออกไปรับจ้างทำงานที่กรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ๆ
เหลือแต่คนแก่อยู่บ้าน
นายสม อุ่นละมาล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านแวง หมู่ 2 ต.อาจสามารถ อ.อาจสามารถ เล่าว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ยังคงเหมือนเดิม ทำนาเป็นอาชีพหลัก ว่างจากเก็บเกี่ยวข้าวหนุ่มสาวหรือคนที่แข็งแรงก็เข้าหางานรับจ้างในกรุงเทพฯ ที่เห็นในหมู่บ้านจะมีแต่คนเฒ่าคนแก่ ลูกเล็กเด็กแดงที่ถูกทิ้งให้พ่อแม่ ญาติๆเลี้ยงแทน สิ้นเดือนก็ส่งเงินกลับมาให้ ช่วงปิดเทอมนี่ ไม่ค่อยมีคนอยู่เด็กๆ พากันไปเยี่ยมพ่อแม่ที่กรุงเทพฯ กันเกือบหมด

เมื่อถามถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร นายสม กล่าวว่า รู้สึกเสียดาย หาก พ.ต.ท.ทักษิณยังอยู่ ชาวบ้านอย่างพวกเขาคงมีโครงการใหม่ๆ เข้าหมู่บ้านให้ได้กู้เงินมาใช้จ่าย ทุกวันนี้ข้าวของแพงมาก ในหมู่บ้านหลายครอบครัวต้องทิ้งนาไปรับจ้างหาเงินที่กรุงเทพฯเขาว่าหาเงินได้ง่ายกว่ารอขายข้าวตอนสิ้นปี

“ชาวบ้านที่นี่เสียดายที่ท่านไม่ได้เป็นนายกฯ รู้ข่าวแต่ว่าถูกทหารยึดอำนาจ แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมทหารถึงไปยึดอำนาจไม่ให้ท่านเป็นนายกฯ ที่เขาบอกว่ารัฐบาลท่านไปโกงไปกินเงินภาษีหุ้น พวกเราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง ไม่มีใครมาเล่าอธิบายให้เข้าใจ ไม่รู้ว่าท่านผิดหรือไม่ผิด” นายสมเล่า และกล่าวต่อว่าอาชีพทำนาไม่ได้ทำให้ร่ำรวย ได้แค่พอมีพอกิน แต่ทำนาทุกวันนี้ต้องซื้อปุ๋ยมาใส่นาราคาแพงมาก ตนมีนา 40 ไร่ ปีกลายต้องหมดเงินค่าปุ๋ยไปหมื่นกว่าบาท เพื่อนบ้านต่างก็บ่นสู้ค่าปุ๋ยไม่ไหว ไม่หว่านปุ๋ย นาข้าวก็ไม่งาม

อย่างไรก็ตาม ทางอำเภอได้แนะนำให้เขียนโครงการขอเงินเอสเอ็มแอลก้อนใหม่ที่รัฐบาลเพิ่งอนุมัติล่าสุด มาซื้อเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ขายให้ชาวนาในหมู่บ้านด้วยกันในราคาถูกๆจะได้ไม่ต้องเปลืองเงินไปซื้อปุ๋ยเคมี น้ำหมักชีวภาพทุกครอบครัวก็หาก็ทำกันเอาไว้เพื่อเป็นวัตถุดิบทำปุ๋ยอินทรีย์ เขาบอกว่าถ้าใช้ปุ๋ยหมักแทนปุ๋ยเคมีจะทำให้ใช้เงินลงทุนน้อยลง

“เจ้าหน้าที่อำเภอเขาบอกว่าเงินเอสเอ็มแอลจะใช้ซื้อโอ่ง ซื้อดินถมถนน ซื้อไก่แจกกันไม่ได้เหมือนแต่ก่อน เมื่อปี 2539 หมู่บ้านนี้ก็ใช้เงินเอสเอ็มแอลที่ได้มาแสนห้าหมื่นบาทไปสร้างศาลาอเนกประสงค์ แต่มาปีนี้เขาก็เลยบอกให้เปลี่ยนเป็นโครงการทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทำการเกษตร ถ้าไม่เขียนโครงการนี้ก็จะไม่ได้เงิน คาดว่าปลายเดือนนี้จะส่งโครงการไปให้ทางอำเภอดู” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านรายเดิมเล่า

เรียลิตี้โชว์แก้จนของอดีตนายกรัฐมนตรีที่อาจสามารถเมื่อต้นปี 2549 ได้มีการสั่งการให้ภาครัฐ เร่งช่วยเหลือชาวบ้าน ทั้งการจัดการที่ดิน การปล่อยสินเชื่อจากธนาคารและภาครัฐ การก่อสร้างถนนลาดยาง การขุดคลองและปรับปรุงระบบระบายน้ำ และการจัดสรรงบประมาณโครงการ SML อย่างทั่วถึง เป็นพื้นที่แรกๆ ของประเทศ ในครั้งนั้นชาวบ้านต่างพอใจที่ได้เงินมาฟรี โดยไม่ต้องใช้คืน

หลายหมู่บ้านนำเงินที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่างกันไป บางแห่งเห็นว่าการถมถนนในชุมชนหมู่บ้านนั้นเป็นหน้าที่ของ อบต.อยู่แล้ว จึงนำเงินเอสเอ็มแอลไปทำโรงสีข้าวชุมชน เพื่อหวังให้เกิดผลระยะยาวแทน ขณะที่บางหมู่บ้านนำเงินที่ได้ไปสร้างศาลาประชาคม สร้างถนนคอนกรีต ซื้อโอ่ง หรือซื้อวัวแจกจ่ายกัน

จนเมื่อรัฐบาลใหม่ประกาศกลับมาสานต่อโครงการ SML อีกครั้ง โดยมีการกดปุ่มโอนเงินก้อนแรกไปเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น
ศาลาเอนกประสงค์ (เอสเอ็มแอลก้อนแรก)
ชาวอาจสามารถซึ่งเคยได้รับเงินโครงการ SML จากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอำเภอแรกๆ ก็ตั้งความหวัง ว่าพวกเขาจะไม่พลาดเงินก้อนจากโครงการเอสเอ็มแอลอีกแน่นอน แต่เมื่อถึงเวลายื่นของบประมาณหลายหมู่บ้านกลับพบปัญหาที่ทำให้การเสนอของบประมาณล่าช้า เพราะมีเงื่อนไขจำกัดเฉพาะโครงการที่ส่งเสริมอาชีพเท่านั้น จะนำมาซื้อโอ่ง ซื้อวัว สร้างศาลาประจำหมู่บ้านไม่ได้

บ้านแวง ม.11 ต.หนองขาม ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่หมู่บ้านที่ชาวบ้านมีมติร่วมกันนำเงินก้อน จำนวน 2.5 แสนบาท จากโครงการSML มาสร้างโรงสีข้าวชุมชน และร้านค้าชุมชน เพื่อหวังให้เกิดผลกำไรและการปันผลระยะยาว

สุทิน วงศ์เสนา ผู้ใหญ่บ้าน บอกว่า หลังจากเริ่มดำเนินการโรงสีข้าวชุมชน ในปี 2549 จนถึงวันนี้ มีสมาชิกเข้าร่วมเพียง 22 คนเท่านั้น จาก 147 ครัวเรือน ถือว่าน้อยมาก เพราะไม่รู้วิธีการบริหารจัดการที่ดีทำให้ชาวบ้านไม่เห็นความสำคัญ ส่วนร้านค้าชุมชน ก็ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เพราะยังไม่มีสินค้า ชาวบ้านจึงเห็นร่วมกันว่าจะนำเงิน 2.5 แสนบาท จากเงินSML ก้อนใหม่ ไปซื้อสินค้ามาขาย 2 แสนบาท ส่วนอีก 50,000 บาท จะนำไปซื้อข้าวเปลือกเก็บไว้

สำหรับการจัดสรรงบประมาณ SML ที่รัฐบาลชุดนี้ตั้งเงื่อนไขในการใช้เงินโดยห้ามใช้เกี่ยวกับเรื่องสาธารณูปโภคนั้น นายสุทินบอกว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อจัดงบประมาณมาให้ ก็ควรให้สิทธิ์ชาวบ้านในการนำเงินไปใช้อย่างเต็มที่ด้วย
สม อุ่นละมาล
พ่อค้ารายหนึ่งที่ขายอาหารในตลาดสด ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าที่ว่าการอำเภออาจสามารถ แสดงความเห็นว่า ตัวอำเภอและหมู่บ้านในเส้นทางที่อดีตนายกฯทักษิณเข้าไปช่วยเหลือแก้จนให้นั้นคึกคักมาก โดยเฉพาะช่วงก่อนที่คณะของท่านทักษิณจะเข้ามาถึง อาหารการกินขายดีมาก ชาวบ้านจับกลุ่มนั่งคุยรอให้ท่านมาช่วยเหลือ หวังว่าจะมีเงินมีที่มีนากันมากขึ้น หนีสินจะหมดไปเพราะทางอำเภอบอกว่าท่านจะมาแก้จนให้

“ตอนนั้นชาวบ้านดีใจกันมาก หน่วยงานราชการก็รับปากจะช่วยเหลือ เข้ามาถามปัญหา คนไม่มีนาทำกินก็คิดว่าจะได้ที่นาที่ไร่ แต่พอท่านนายกฯ ทักษิณกลับไป ข้าราชการที่มารับปากไว้ก็หายไปกันหมด ไปตามเรื่องที่อำเภอก็บอกให้รอก่อนรอก่อน”พ่อค้ารายเดิมเล่าให้ฟัง

มาถึง ณ วันนี้ แม้เรียลิตี้แก้จนของอดีตนายกฯ จะผ่านล่วงไปกว่า 2 ปี แต่ในมุมมองของนักวิชาการและเอ็นจีโอในภาคอีสานจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ปัญหาความยากจนด้วยวิธีการดังกล่าว ถือเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ไม่ได้ช่วยให้ความยากจนของชาวบ้านลดลง ซ้ำยังช่วยตัวเองไม่ได้ รอแต่เงินอัดฉีดจากรัฐบาล

โปรดติดตามอ่านต่อในตอน “คำมั่นทักษิณ สุดท้ายก็แค่ลมปาก” ได้ในวันพรุ่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น