xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง 2 เงื่อนไขเปิดไม่เปิดประตูเขื่อนปากมูลปี 51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - คณะทำงานพิจารณาการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลประจำปี 2551 ซึ่งจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งได้บทสรุปห้วงการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำไว้ 2 ประการ คือ ระดับการไหลของน้ำในแม่น้ำมูล หรือระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.-15 ต.ค. เพื่อให้สัตว์น้ำจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูล พร้อมหนุนให้ กฟผ.ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำฟื้นฟูลำน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนต่อไปอีก 5 ปี

ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนประมาณ 150 คนได้เดินทางมาติดตามการประชุมของคณะทำงานพิจารณาการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลประจำปี 2551 ซึ่งนายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานประธานคณะทำงานจัดประชุมร่วมระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจน ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรม ประมงจังหวัด และนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย เพื่อกำหนดห้วงของการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในฤดูวางไข่ปีนี้ โดยที่ประชุมมีมติกำหนดมาตรการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลไว้ 2 กรณีคือ

1.ให้เปิดประตูน้ำทันทีที่อัตราการไหลของแม่น้ำมูลมีความเร็ว 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะต้องยกบานประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลขึ้นสูงสุดทั้ง 8 บานภายใน 10 วันหลังเริ่มระบายน้ำออกจากเขื่อน เพื่อปรับระดับน้ำหน้าเขื่อนให้เท่ากับระดับน้ำท้ายเขื่อนแล้ว

2.ในกรณีอัตราการไหลของน้ำมีความเร็วไม่ถึง 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะต้องยกบานระบายประตูน้ำขึ้นสูงสุดภายในวันที่ 15 มิถุนายน-15 ตุลาคมเพื่อฟื้นฟูสภาพลำน้ำมูลเป็นเวลา 4 เดือนตามที่มีข้อตกลงไว้กับกลุ่มสมัชชาคนจน


ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า นอกจากมีการกำหนดกระบวนการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลประจำปี 2551 ภาคราชการ นักวิชาการ และชาวบ้าน ยังเสนอให้การไฟฟ้าแห่งประเทศไทยพิจารณาสนับสนุนปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงในแม่น้ำมูล เพื่อฟื้นฟูพันธุ์สัตว์น้ำต่อไปอีก 5 ปี หลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ทำการปล่อยพันธุ์ปลาและพันธุ์กุ้งก้ามกรามเป็นเวลา 5 ปีมาแล้ว

โดยเรื่องการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำครั้งใหม่ ตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้รับเรื่อง เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต่อไป

ขณะเดียวกันยังมีการเสนอให้มีการศึกษาคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำมูล และศึกษากระบวนการวางไข่ของพันธุ์สัตว์น้ำในฤดูวางไข่ของลุ่มน้ำ เพื่อนำมาใช้บริหารจัดการทรัพยากรการประมงในอนาคต และมีการเสนอให้ตั้งสถานีวัดระดับน้ำใช้ตรวจสอบระดับน้ำร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับราชการ เพื่อใช้บริหารการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรกรรมในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำมูลด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น