xs
xsm
sm
md
lg

ศุลกากรจับลอบนำเข้าสารคลอโรฟูออโรคาร์บอน-คอมเพรสเซอร์แอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมกับสำนักสืบสวนและปราบปราม ปกป้องสังคมจากภาวะโลกร้อน จับกุม สาร CFCs และคอมเพรสเซอร์แอร์ ลักลอบนำเข้า มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

วันนี้ (7 พ.ค.) ที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นายสมศักดิ์ พจน์ปฎิญญา ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยนายสมชาย พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม ร่วมกันแถลงข่าว การจับกุม สาร CFCs หรือ สารคลอโรฟูออโรคาร์บอน (Chloro Fluorocarbon) โดยเป็นกลุ่มสารเคมีสังเคราะห์ที่มีคลอรีนผสมอยู่และสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง ซึ่งสารชนิดนี้เป็นตัวทำละลายที่ใช้ทำความสะอาดและใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น โฟม, ตู้เย็น, เครื่องปรับอากาศ และ ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นสเปรย์

สำหรับสารชนิดนี้ จากตรวจตรวจวิเคราะห์ พบว่า ไม่สามารถย่อยสลายได้ในชั้นบรรยากาศทั่วไป แต่จะลอยขึ้นไปสะสมในชั้น Stratosphere และจะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยรังสีจากดวงอาทิตย์ กลายเป็นอนุภาคคลอรีน เข้าไปทำลายชั้นโอโซน ซึ่งชั้นบรรยากาศในชั้นนี้จะช่วยปกป้องโลกจากความร้อน และสารนี้สามารถคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานถึง 50-100 ปี

ชั้นโอโซนดังกล่าว เมื่อถูกทำลาย จะทำให้รังสี UVB จากแสงอาทิตย์สามารถส่องลงมาสู่ผิวโลกได้มากขึ้นทำให้โลกร้อนขึ้นและเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ปฏิกิริยาเรือนกระจก (Green House Effect) และที่น่ากลัวมาก คือ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งโรคผิวหนัง และ โรคตาต้อกระจก

จากผลที่กระทบรุนแรงดังกล่าว ทำให้กว่า 175 ประเทศทั่วโลก ตระหนักถึงความสำคัญของการงดใช้สาร CFCs หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสาร CFCs และได้ร่วมลงนามในพิธีสารมอนทรีออล ในปี พ.ศ.2531 เพื่อร่วมกันควบคุมสารนี้ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกร่วมลงนามด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวถึงปัญหา กรมศุลกากร ได้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการปกป้องสังคมจากสินค้าอันตรายต่างๆ จึงกำหนดวิสัยทัศน์ว่า “ศุลกากรมาตรฐานโลก เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ ปกป้องสังคม” และสืบทราบว่ามีผู้นำเข้าสำแดงสินค้าเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงนำสาร CFCs เข้ามาเป็นจำนวนมากจึงได้สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนและปราบปรามติดตามจับกุม

ทั้งนี้ พบว่า บริษัท ที ที อินเตอร์ซัพพลาย จำกัด นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าเลขที่ 2801 00451 04722 โดยสำแดงสินค้าเป็นน้ำยาแอร์ Refrigerant R 134 A ขนาดถังละ 13.6 กิโลกรัม จำนวน 1,000 ถัง (Cylinders) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเรือ OOCL BANGKOK เที่ยววันที่ 21 เมษายน 2551 โดยมีใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่อย่างละเอียด พบกล่องกระดาษบรรจุ ระบุว่า เป็น Refrigerant R 134 A ถูกต้องตรงตามสำแดงเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อเปิดกล่องพบว่า มีสินค้าที่เป็น R 134 A เพียง 10 ถัง วางปิดอยู่ด้านหน้าของตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น

ส่วนสินค้าด้านในพบเป็นสาร CFCs ชนิด R-12 ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมการนำเข้าจำนวน 990 ถัง นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังพบคอมเพรสเซอร์แอร์สำหรับรถยนต์ เป็นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้ายี่ห้อ “SANDEN” รุ่น 508 จำนวน 300 ตัว คิดเป็นมูลค่าการลักลอบนำสินค้าเข้ามาในครั้งนี้กว่า 10 ล้านบาท จึงควบคุมสินค้าดังกล่าวไว้ พร้อมตั้งข้อกล่าวหาว่า เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จและทำการปกปิด หรือปิดบัง เพื่อลวงให้เจ้าหน้าที่หลงผิดเพื่อลักลอบนำสินค้าต้องห้ามต้องกำกัด เข้ามาในราชอาณาจักร และจะดำเนินคดีกับผู้นำเข้าต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น