ศูนย์ข่าวศรีราชา – ชลประทานจังหวัดชลบุรี ชี้ ปีนี้ปริมาณน้ำในภาคตะวันออกไม่น่าห่วง มีพอเพียงใช้ทั้งอุปโภคบริโภค ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม แต่ปี 52 ยังหวั่นได้รับผลกระทบ เตรียมวางแผนรองรับ ก่อนปัญหาจะเกิดขึ้น
นายบุญสม ยุติธรรมภิญโญ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานจังหวัดชลบุรี กรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปี 2551 ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากอ่างเก็บน้ำในจังหวัดชลบุรี ทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ จำนวน 8 แห่ง ยังมีปริมาณน้ำอย่างเพียงพอ ที่จะส่งให้แก่หน่วยงานต่างๆ ในช่วงแล้งนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในปีนี้จะมีปริมาณน้ำอย่างเพียงพอ แต่เมื่อถึงในช่วงฤดูฝนปีหน้า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ อาจจะเหลือไม่มาก โดยขึ้นอยู่กับช่วงฤดูฝนในปีนี้เช่นกัน หากฝนตกน้อย ก็จะสะเทือนถึงในช่วงแล้งปี 2552 อย่างแน่นอน
นายบุญสม กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2548 สร้างความตื่นตระหนกของหน่วยงานที่รับผิดชอบต่างๆ เช่น กรมชลประทาน อีสท์วอเตอร์ และการประปาส่วนภูมิภาค ได้วางแผนงานในการรองรับปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นอีก เช่น วางท่อจากแม่น้ำบางปะกงมายังอ่างเก็บน้ำบางพระ วางท่อจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และวางท่อจากอ่างเก็บน้ำบางพระไปยังพื้นที่จ่ายน้ำในเขตพื้นที่เมืองพัทยา ดังนั้น ปัญหาจะไม่วิกฤตเหมือนปี 2548
สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ เช่น อ่างเก็บน้ำบางพระ มีปริมาณน้ำเหลือ 39 ล้าน 7 แสนลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เปรียบเทียบในช่วงปี 2548 มีเพียง 27 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ส่วนอ่างอื่นๆ มีปริมาณน้ำมากกว่าในช่วงปี 2548 ทั้งสิ้น โดยสภาพรวมของปริมาณน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้ มีทั้งสิ้น 67 ล้าน ลบ.ม.แต่ในปี 2548 มีเพียง 40 ล้าน ลบ.ม.และในช่วงนี้ก็ใกล้ฤดูฝนแล้ว ปัญหาขาดแคลนน้ำในปีนี้จึงไม่มีอย่างแน่นอน
นายบุญสม กล่าวถึงสถานการณ์การใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรี มีการใช้น้ำปีละประมาณ 170 ล้านลบ.ม. แต่ปริมาณในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำรวม 180 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งยังมีปริมาณน้ำเกินอยู่ประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น
สำหรับปริมาณน้ำที่มีอยู่และปริมาณผู้ใช้น้ำ เท่าเทียมกัน ดังนั้น กรมชลประทาน จึงได้วางแผนหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมหลายๆ โครงการ
โครงการที่กรมชลประทานวางแนวรองรับ ประกอบด้วย 1.วางท่อผันน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองพระองค์ไชยานุชิต มาเก็บไว้ที่อ่างบางพระ ที่มีความจุอ่าง 117 ล้าน ลบ.ม.แต่มีน้ำไหลเข้าอ่างฯเฉลี่ยเพียงปีละ 41 ล้าน ลบ.ม.จึงมีปริมาณที่สามารถนำน้ำมาเก็บไว้ในอ่างบางพระในฤดูฝนได้ปีละ 70 ล้าน ลบ.ม.โดยขณะนี้โครงการได้ออกแบบเรียบร้อยแล้ว โดยรอเพียงอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างเท่านั้น
นอกจากนั้น ยังมีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำมาบหวายโสม และอ่างเก็บน้ำห้วยไข่เน่า มีความจุรวมกัน 9.50 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งสามารถช่วยเหลือเมืองพัทยาได้ปีละ 6.00 ล้านลบ.ม. ซึ่งขณะนี้แผนงานเรียบร้อยแล้วเช่นกัน โดยรอเพียงงบประมาณเท่านั้น และ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวง ซึ่งมีความจุอ่าง 98 ล้าน ลบ.ม.โดยหาก 3 โครงการดำเนินการแล้วเสร็จ ปัญหาขาดแคลนน้ำจะไม่เกิดขึ้นอีกในช่วง 20-30 ปีนี้อย่างแน่นอน
นายบุญสม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้ ดังนั้น จึงต้องวางแผนรองรับไว้ล่วงหน้า เช่น ระดมสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง มาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระในช่วงก่อนที่น้ำจะเป็นน้ำเค็ม ช่วงระยะเวลา 4-5 เดือน ซึ่งสามารถนำมากักเก็บไว้ได้ถึง 70 ล้าน ลบ.ม.ก็จะเพียงพอตลอดไป
ที่ผ่านมา ปัญหาการผันน้ำจากแหล่งต่างๆ มาสะสมไว้ตามอ่างเก็บน้ำ โดย อีสท์วอเตอร์ ซึ่งบริษัทมีปัญหา เช่น เครื่องปั๊มน้ำขัดข้อง หรือไม่สามารถสูบน้ำได้ จนส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำ ซึ่งเรื่องนี้กรมชลประทานได้วางแนวทางในการป้องกันและแก้ไข คือ อีสท์วอเตอร์ต้องการจ่ายน้ำให้แก่ภาคธุรกิจเท่าไร บริษัทต้องผันน้ำมากักเก็บไว้ในปริมาณเท่านั้น หากไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขที่วางไว้ กรมชลประทานจะไม่จ่ายน้ำให้อย่างแน่นอน ดังนั้น บริษัทจึงต้องดำเนินการตามมาตรการที่วางไว้ เพื่อป้องกันปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดปัญหาแล้ว จึงต้องวางรูปแบบดังกล่าวไว้
อนึ่ง ปริมาณน้ำของอ่างต่างๆ ในปัจจุบัน 1.อ่างเก็บน้ำบางพระ ความจุ 117 ล้าน ลบ.ม.เหลือ 39.743 ล้าน ลบ.ม.2.อ่างเก็บน้ำหนองค้อความจุ 21.40 ล้าน ลบ.ม.เหลือ 5.537 ล้าน ลบ.ม. 3.อ่างเก็บน้ำมาบประชัน ความจุ 16.60 ล้าน ลบ.ม.เหลือ 7.240 ล้าน ลบ.ม.4.อ่างเก็บน้ำห้วยสะพานความจุ 3.84 ล้าน ลบ.ม.เหลือ 2.090 ล้าน ลบ.ม.
5.อ่างเก็บน้ำหนองกลางดง ความจุ 7.65 ล้าน ลบ.ม.เหลือ 4.872 ล้าน ลบ.ม.6.อ่างเก็บน้ำชากนอก ความจุ 7.03 ล้าน ลบ.ม.เหลือ 2.765 ล้าน ลบ.ม.7.อ่างเก็บน้ำห้วยขุนจิตความจุ 4.80 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 2.628 ล้าน ลบ.ม. 8.อ่างเก็บน้ำบ้านบึงความจุ 10.98 ล้าน ลบ.ม.เหลือ 3.004 ล้าน ลบ.ม.