xs
xsm
sm
md
lg

“หมัก”หว่านยาหอมปลดทุกข์ชาวไร่อ้อย-รับปากแก้ทั้งระบบ ดันราคา807 บาท/ตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เดินทางมาพบปะรับฟังปัญหาจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยจาก 21 สถาบันทั่วประเทศ ที่โรงแรมสีมาธานี จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 26 เม.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “นายกฯหมัก” หุ่นเชิด พบชาวไร่อ้อยทั่วประเทศที่โคราชหว่านยาหอมปลดทุกข์เกษตรกรที่มีมานาน ทั้งแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำรับปากดันราคาตันละ 807 บาท จากที่เรียกร้อง 1,200 บาท/ตัน-จัดหาพันธุ์อ้อยคุณภาพดี-สนับสนุนการปลูกด้วยระบบน้ำหยดเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่อีก 50 % และโดดเจรจาผู้ค้าแก้ปัญหาปุ๋ยแพงด้วยตัวเอง ด้านรมว.อุตฯ สนองแก้ปัญหาผลักดันเพิ่มมูลค่าผลิตเอทานอล-การใช้เอทานอลในรถยนต์เพื่อดันราคาอ้อยให้สูงขึ้น พร้อมประสานรมช.คลัง จัดหาที่ราชพัสดุ 1 ล้านไร่ทั่วประเทศขยายพันธุ์อ้อยชั้นดีแจกเกษตรกร

ช่วงบ่ายวันนี้ (26 เม.ย.) ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เดินทางมาพบปะรับฟังปัญหาจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยจาก 21 สถาบันทั่วประเทศ พร้อมคณะประกอบด้วย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยเข้าร่วมกว่า 1,000 คน

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับเกษตรกร ว่า รัฐบาลเห็นใจเกษตรกรชาวไร่อ้อย ถือเป็นทุกข์ของคนค่อนประเทศ ซึ่งได้รับฟังและรับทราบปัญหาต่างๆ ของชาวไร่อ้อยแล้วในวันนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหาแนวทางในการช่วยเหลือ ทั้งเรื่องราคาอ้อย ซึ่งเชื่อว่า ที่ระดับราคาขาย 807 บาท/ตันนั้นมีความเป็นไปได้

การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ด้วยการหาพันธุ์อ้อยที่ดีให้กับเกษตรกร และ การแก้ปัญหาเรื่องปุ๋ยแพง รวมถึงการนำอ้อยไปทำเป็นพลังงานทดแทน เช่น เอทานอล แต่ขอเวลาให้รัฐบาลได้ทำงานสักระยะหนึ่ง ให้เกษตรกรอดทนต่อไปอีกสักนิด ตนยังอยู่ไม่ไปไหน จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ ไม่ได้ทำเพื่อการเลือกตั้ง แต่อยากปลดทุกข์ให้คนที่มีทุกข์มานานเท่านั้น

จากนั้น นายสมัคร ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ที่มาพบเกษตรกรชาวไร่อ้อยในวันนี้เพราะเขามีปัญหาเรื่องพืชพันธุ์และวิธีการปลูก การแพร่ขยายพันธุ์ ว่ารัฐบาลจะรับมาทำให้ได้หรือไม่เพราะถ้าเกษตรกรทำเองมันช้า วิธีการปลูกอ้อยแบบน้ำหยดที่เราทำเป็นตัวอย่างเกษตรกรก็เริ่มทำตามแล้ว และเมื่อข้าวขึ้นราคา เกษตรกรก็อยากจะให้น้ำตาลได้ปรับขึ้นบ้าง ถ้าเป็น 21 บาท/กิโลกรัม (กก.) ก็คงไม่เดือดร้อนกันเท่าไรนัก

นายสมัคร กล่าวอีกว่า พื้นฐานที่รัฐบาลจะช่วยทำให้เกษตรกรได้คือการปรับราคาอ้อยขึ้นเป็นตันละ 807 บาท และ ถ้าได้ราคาขายน้ำตาลใหม่ที่หน้าโรงงาน 21 บาท เกษตรกรก็จะได้อีก 100 บาท ซึ่งจริง ๆ แล้วเกษตรกรขอ 1,200 บาท/ตัน แต่ตนจะช่วยในเรื่องพันธุ์คุณภาพดี เรื่องปัญหาปุ๋ยราคาแพงก็จะช่วยดูแลให้ โดยจะไปเจรจากับผู้ประกอบการนำเข้าปุ๋ยให้ด้วยตัวเอง

ด้าน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการพบปะรับฟังปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยในวันนี้ (26 เม.ย.) นายกรัฐมนตรีเห็นว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยขณะนี้กำลังประสบปัญหาอยู่ เนื่องจากราคาอ้อย ขั้นต้นต่ำกว่าทุน ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายร่วมกับหน่วยงานอื่นพิจารณาแล้วว่า อยู่ที่ 807 บาท/ตัน แต่เกษตรกรขายได้เพียง 600 บาท/ ตัน ขาดทุนอยู่ถึง 200 บาท/ตัน อย่างไรก็ตามภาครัฐได้เพิ่มให้อีก 100 บาท แต่ก็ยังขาดอยู่อีก 100 บาทที่จะต้องดำเนินการจัดหาเพิ่มให้

ในการนี้นายกรัฐมนตรี ได้มองการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ตั้งแต่เรื่องการผลิตโดยจะให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ให้ได้มากขึ้นอีก 50% หรือ ให้ได้ผลผลิตต่อไร่จากเดิม 10 ตัน เป็น 15 ตัน/ไร่ ซึ่งสามารถทำได้ แต่ต้องมีระบบการจัดการที่ดี โดยเฉพาะเรื่องน้ำ รัฐบาลจะเข้าไปสนับสนุนระบบน้ำหยดให้แก่เกษตรกร ซึ่งจะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพิ่มขึ้น

ประการที่ 2 คือ เรื่องปุ๋ย นายกรัฐมนตรีจะดำเนินการเจรจาหาวิธีการช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องราคาปุ๋ยซึ่งสูงขึ้นในขณะนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้เจรจากับหลายส่วนไปแล้วคิดว่าจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องราคาปุ๋ยไม่ให้แพงมากจนเกินไปได้

ส่วนประการที่ 3 เรื่องราคาน้ำตาลซึ่งเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน นายกรัฐมนตรีได้รับไปพิจารณา โดยบอกว่า ถึงเวลาที่จะต้องปรับขึ้นก็ต้องปรับกัน เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ เกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่าล้านครอบครัวทั่วประเทศ มีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ในส่วนของอ้อยที่สามารถแปรรูปเป็นน้ำตาล และ เอทานอลได้นั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการศึกษาเพื่อให้อ้อยมีราคาดีขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตของอ้อย นอกจากน้ำตาลทรายที่เราส่งออกไปขายราคาถูกในต่างประเทศเท่านั้น

“โดยภาพรวมทั้งหมดเชื่อว่านายกฯ มองเห็นภาพและมองเห็นปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยแล้ว ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเองในฐานะที่ผมกำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทราย ก็จะนำไปดำเนินการต่อโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างต่าง ๆ ส่วนที่สามารถดำเนินการได้เลยทางกระทรวงฯ ก็จะดำเนินการทันที และเรื่องใดที่สามารถจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีได้ในวันอังคารนี้ (29 เม.ย.) ก็จะนำเข้าเสนอ รวมถึงเรื่องภาษีสรรพาสามิตเกี่ยวกับเอทานอล ก็จะมีการปรับปรุงมาตรการในการที่จะดูแลในเรื่องของภาษี เหล้า และเอทานอลที่จะนำไปเป็นเชื้อเพลิง” นายสุวิทย์ กล่าว

สำหรับเรื่องที่ดินที่จะนำมาขยายพันธุ์อ้อย นั้น ได้พูดคุยกับ ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่กำกับดูแลที่ดินของกรมธนารักษ์ แล้ว ในการจัดพื้นที่ราชพัสดุกว่า 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ มาทำเป็นแปลงขยายพันธุ์อ้อยให้กับศูนย์ขยายพันธุ์อ้อยของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร และในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ก็จะรับเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลไปดำเนินการ ในการพัฒนาจาก อี-20 เป็น อี- 85 ที่สามารถใช้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันได้ทุกชนิด คิดว่าเรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญ

ขณะที่ นายราชัย ชูศิลป์กุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ยื่นข้อเรียกร้อง ต่อ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี แก้ปัญหา 4 เรื่อง คือ
1.ให้รัฐบาลช่วยเหลือผลักดันให้มีการรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรในราคาที่คุ้มทุน จากปัจจุบันตันละ 600 บาท เป็นตันละ 1,200 บาท หรือ ไม่ต่ำกว่า 807 บาท/ ตัน
2.ให้รัฐบาลปรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน จากกิโลกรัมละ 14-15 บาท ขึ้นเป็น 18-20 บาท
3. ประกาศให้การผลิตเอทานอลจากอ้อยเป็นวาระแห่งชาติ
4. เกษตรกรชาวไร่อ้อยขอพักการชำระหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นระยะเวลา 2 ฤดูกาลผลิต


นายสุวิทย์  คุณกิตติ รมว.อุตสาหกรรม




ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมช.คลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น