พิจิตร - ชาวนาพิจิตรสนองพระราชดำรัสในหลวง รวมกลุ่มตั้งโรงสีชุมชนขนาดเล็กตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำนาได้ข้าวเปลือกนำมาแปรรูปเป็นข้าวสารไว้กินเองและขายสมาชิกในราคาถูก ก่อนหาทางพัฒนาเป็นข้าวปลอดสารพิษบริโภคใน-นอกชุมชนต่อ
นายเอนก แก้วเกตุ อายุ 40 ปี ประธานคณะทำงานโรงสีชุมชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเนินหัวโล้ ต.วังทรายพูน อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร เปิดเผยว่า หลังจากราคาข้าวเปลือกที่มีราคาสูงขึ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่าน ส่งผลกระทบให้ข้าวสารมีราคาแพงตามไปด้วย ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน แม้มีอาชีพทำนา แต่ต้องซื้อข้าวสารจากพ่อค้ารถเร่ที่นำมาจำหน่ายตามตลาดนัดในหมู่บ้านมาบริโภคในราคาที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ล่าสุดกลุ่มชาวบ้านมากกว่า 80 % จึงรวมตัวกันแก้ปัญหาด้วยการใช้งบประมาณจากรัฐบาลเมื่อปีกลายที่ผ่านมา ที่สนับสนุนตามโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (พพพ.)จำนวน 250,000 บาท หารือในประชาคมและลงมติรวมกันจัดตั้ง “โรงสีชุมชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้น
ชาวบ้านได้นำงบประมาณจำนวน 7 หมื่นบาทไปซื้อโรงสีข้าวพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก มาติดตั้งในคอกเลี้ยงแพะของชาวบ้านที่อนุญาตใช้สถานที่ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณสร้างอาคารหลังใหม่ ส่วนงบประมาณอีก 180,000 บาท ทางกลุ่มได้นำไปซื้อข้าวหอมสุรินทร์และข้าวเหนียวจากสมาชิกมาเก็บไว้จำนวนกว่า 15 ตัน เพื่อแปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่ายเป็นสวัสดิการให้สมาชิกภายในชุมชนที่มีมากกว่า 200 หลังคาเรือน
นอกจากนี้ยังบริการสีข้าวเปลือกให้กับชาวบ้านอีกด้วย ส่วนรำและปลายข้าวที่ได้จากการสีข้าวทั้งหมด ยกให้เป็นค่าบริหารจัดการของโรงสีและค่าจ้างคนดูแลโรงสี มีกำไรสิ้นปีก็จะนำไปจัดเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้าน
ปัจจุบันโรงสีชุมชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเนินหัวโล้ ดำเนินกิจกรรมสีข้าวสารจำหน่ายให้แก่สมาชิกในราคาที่ถูกกว่าตลาด โดยขายข้าวสารเจ้าหอมสุรินทร์ถังละ 280 บาท ขณะที่ราคาในท้องตลาดถังละ 400 กว่าบาทแล้ว แต่มีข้อแม้ว่าจะจำหน่ายข้าวสารให้เฉพาะสมาชิกในชุมชนเท่านั้น และจะซื้อได้ครอบครัวละไม่เกิน 2 ถังต่อ 1 เดือน เพื่อกระจายข้าวสารให้สมาชิกสามารถซื้อไว้หุงกินได้อย่างทั่วถึง
หลังจากที่เปิดดำเนินการระยะหนึ่ง ขณะนี้ข้าวเปลือกที่ซื้อไว้เหลืออยู่ในโกดังจำนวนไม่มาก เพราะสมาชิกภายในชุมชนหันมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก จนต้องจองคิวซื้อข้าวสารที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาดและเกิดจากความเข้มของชุมชนที่รวมตัวกันนั้นเอง
ส่วนการพัฒนาโครงการในอนาคตนั้น คณะทำงานบริหารโรงสีชุมชนฯ จะรวบรวมสมาชิกที่มีพื้นที่นาและต้องการปลูกข้าวปลอดสารพิษร่วมกันทำแปลงสาธิตและผลิตข้าวเปลือกจำหน่ายให้กับโรงสีชุมชน เพื่อนำมาแปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่ายให้แก่สมาชิก ก่อนหาทางขยายไปสู่ชุมชนอื่นๆได้บริโภคข้าวที่ปลอดจากสารเคมี เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ผลิตข้าวปลอดสารพิษของจังหวัดพิจิตรและแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย