กาฬสินธุ์ - ทันทีที่เขื่อนลำปาวหยุดการส่งน้ำ เพื่อซ่อมบำรุงและให้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง กลับทำให้ชาวนากุ้งได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขนย้ายกุ้งหนีไม่ทัน ทำให้เกิดปัญหาน็อคตายเสียหายกว่า 5 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ แหล่งเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เกิดปัญหากุ้งน็อคตายอีกครั้ง ในภายหลังจากที่เกิดปัญหาดังกล่าวเมื่อผลัดเปลี่ยนฤดูจากหนาวเป็นร้อน ทำให้กุ้งปรับตัวไม่ทัน เกิดการน็อคตายเป็นจำนวนมาก ขณะที่การเกิดปัญหาในครั้งนี้ มีสาเหตุจากการขาดแคลนน้ำเปลี่ยนถ่ายในบ่อกุ้ง
เนื่องจากโครงการบำรุงและรักษาเขื่อนลำปาว ได้หยุดทำการส่งน้ำเพื่อทำการซ่อมบำรุงคลองระบายน้ำ และเพื่อให้ชาวนาได้เก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่ปฏิบัติเป็นประจำทุกปี
นายสมาน ภูใบบัง อายุ 62 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งบ้านตูม หมู่ 4 ตำบลบัวบานกล่าวว่า เมื่อถึงฤดูแล้งที่ขาดแคลนน้ำ เพราะเขื่อนลำปาวหยุดส่งน้ำ ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงกับชาวนากุ้งเป็นประจำ ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามที่จะปรับเปลี่ยนระบบการเลี้ยง ให้สมดุลกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
แต่ก็ยังประสบปัญหาสะสมมาทุกปี ที่นอกจากเกิดปัญหาเนื่องจากขาดแคลนน้ำแล้ว สภาพอากาศที่ร้อนจัดในเวลากลางวันและมีฝนตกในเวลากลางคืน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กุ้งน็อคตายเพราะปรับตัวไม่ทัน อย่างปัญหาที่พบในครั้งนี้ ที่ในทันทีที่เขื่อนหยุดส่งน้ำ ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดและมีฝนตก ทำให้กุ้งของตนและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหลายราย ที่ยังไม่ได้จับจำหน่าย
เนื่องจากยังมีขนาดเล็กน็อคตายคนละหลายสิบกิโลกรัม สำหรับกุ้งของตนนั้นน็อคตายประมาณ 10 กิโลกรัม หากเมื่อนับรวมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในเขตตำบลบัวบาน ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาดและตำบลลำพาน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ที่อาศัยน้ำจากคลองชลประทานลำปาวในการเลี้ยงกุ้ง ที่มีประมาณ 1,000 ราย คาดว่าจะได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ และจำหน่ายกุ้งหนีภัยแล้งไม่ทันประมาณ 5 ล้านบาททีเดียว
ด้านนายลัทธิ ภูนาไชย อายุ 60 ปี เกษตรผู้เลี้ยงกุ้งบ้านตูมเหนือ หมู่ 19 กล่าวว่า ตนมีพื้นที่เลี้ยงกุ้ง 10 ไร่ ในปีนี้ปล่อยกุ้งประมาณ 1 ล้านตัว ใช้ต้นทุนการผลิตทั้งค่าพันธุ์ลูกกุ้งและค่าอาหาร ไปแล้วประมาณ 3 แสนบาท แต่เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงปลายปีถึงช่วงต้นปีซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งส่วนมาก จะนำลูกกุ้งมาปล่อย
เพราะจะมีอายุจับจำหน่ายในช่วงเดือนเม.ย.-มี.ค.พอดี แต่สภาพอากาศช่วงนั้นหนาวจัด ตนจึงไม่เสี่ยงที่จะนำลูกกุ้งมาเลี้ยง เพราะเกรงว่าลูกกุ้งจะหนาวตาย จึงรอเวลาจนถึงฤดูหนาวผ่านไป จึงนำกุ้งมาเลี้ยงซึ่งมีอัตราเหลือรอดมากกว่า แต่แล้วก็มาประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและอากาศร้อนจัด ทำให้กุ้งน็อคตายเป็นจำนวนมาก
ทางออกที่ตนกับเพื่อนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทำในตอนนี้ ที่พอจะแก้ไขสถานการณ์ได้บ้างก็คือเร่งสูบน้ำจากคลองส่งน้ำกักเก็บไว้ในบ่อกุ้งให้มาก ซึ่งก็พอที่จะบรรเทาความเดือดร้อนไปได้ในระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ทางโครงการบำรุงและรักษาเขื่อนลำปาว โดยนายพรเทพ เหม็งประมูล ผู้อำนวยการโครงการฯ ได้ประกาศให้เกษตรกรในพื้นที่เขตชลประทานทราบในเบื้องต้นแล้วว่า จะทำการหยุดส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.- 22 มิ.ย. 51 ทั้งนี้เพื่อทำการซ่อมบำรุงคลองส่งน้ำบางส่วนที่ชำรุด และในขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ทำนาปรัง ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างสะดวก
โดยเป็นการหยุดส่งน้ำในช่วงระยะเวลาเดียวกับที่ปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี โดยจะยังมีการปล่อยน้ำลอยคลองเพื่อรักษาระบบนิเวศ ส่วนปัญหาที่เกิดกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามนั้น ทุกฝ่ายเข้าใจดีและยอมรับในการปฏิบัติงานของทางโครงการฯ จึงเป็นประเด็นที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะต้องบริหารจัดการให้สอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้น
อีกทั้ง ในช่วงนี้ยังพอที่จะมีน้ำในคลองสายต่างๆ เกษตรกรควรรีบสูบน้ำกักเก็บไว้ เพื่อใช้สำหรับหมุนเวียนและเปลี่ยนถ่ายในบ่อกุ้ง ที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อลดความสูญเสียที่อาจะเกิดขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะได้ไม่ประสบปัญหากุ้งน็อคตายและขาดทุนเหมือนทุกปีที่ผ่านมา